เกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

หลักการจัดการเรียนรู้
ให้เด็กของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่


โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2520 และได้พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กวัย 2-6 ปี มาโดยตลอดจนเป็นที่รู้จักดีในวงการการศึกษาปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่จัดการเรียนการสอนทันสมัย และมุ่งมั่นในการพัฒนาครูอย่างสม่ำเสมอ เด็กนักเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ได้รับการพัฒนาทุกด้าน ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา อย่างเป็นองค์รวม สอดคล้องกับวิจัยและทฤษฎีใหม่ๆ รวมทั้งจะได้เรียนรู้และปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมไทย มีความเข้าใจในโลกรอบตัว

ได้รับการฝึกให้ช่วยตัวเอง มีวินัยในตนเอง ริเริ่มสร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามวัย โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่เชื่อว่าการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในโรงเรียนมีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของเด็กที่เติบโตในประเทศไทยและอยู่ในบริบทสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาไทย เด็กจะสามารถ คิด พูด อธิบาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บอกเล่าสิ่งต่างๆที่ตนเองคิด ต้องการสื่อสารได้ดีละเอียดลออมากขึ้น ส่วนภาษาที่สองที่โรงเรียนให้ความสำคัญคือภาษาอังกฤษ ซึ่งเด็กๆสามารถซึมซับภาษาที่สองไปได้ตามธรรมชาติเมื่อได้ยินได้ฟังบ่อยๆ โดยโรงเรียนจัดให้มีครูเจ้าของภาษา (native English speaking teachers) เข้าไปเล่นกับเด็กในช่วงเช้า ครั้งละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 วัน และสอนภาษาอังกฤษคาบละ 20-30 นาทีตามความเหมาะสมกับอายุของเด็กในวันที่ครูเข้าไปอยู่กับเด็ก นอกจากนั้นโรงเรียนมีหลักสูตรเสริมภาษาอังกฤษ (Extra English Program) ที่ผู้ปกครองสามารถเลือกให้เด็กได้เรียนสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งสอนโดยครูต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเช่นกัน

เกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

ครูไก่ (วิวรรณ สารกิจปรีชา)
ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

การหลอมรวมทฤษฎีและวิธีการจัดการเรียนรู้
ให้เด็กของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ อยู่ภายใต้ความเชื่อว่า


  • เด็กต้องการความรัก ความอบอุ่น และความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบตัวเด็ก
  • ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ ครูจะต้องตอบสนองความต้องการของเด็กๆอย่างเหมาะสมกับความรู้สึกและอารมณ์ของเด็กแต่ละคนอย่างเป็นบวก ครูต้องฟังเด็ก ให้โอกาสเด็กได้ริเริ่ม และตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็กจะทำ สำรวจ สรุปและให้เด็กๆได้แสดงถึงความคิดของเด็กๆเอง
  • เด็กวัยอนุบาลต้องได้รับการส่งเสริมให้รู้สึกดีต่อตนเอง รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ทั้งตัวตนและความคิดความเห็น รู้สึกว่าตนเองทำได้ มีความเชื่อมั่นในตนเอง
  • เด็กทุกคนมีความสงสัยอยากรู้ ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เด็กจะถามและทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อตอบสนอง
  • ความต้องการอยากรู้ของตนเองในด้านและแง่มุมต่างๆ ครูฟูมฟักธรรมชาติของเด็กๆส่วนนี้ให้งอกงาม เพื่อเด็กจะได้มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และอยากจะเรียนรู้
  • เด็กเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม เด็กฝึกฝนและเรียนทักษะต่างๆอย่างเป็นองค์รวมและเมื่อพบสิ่งอะไรใหม่เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสในการเรียนรู้ทั้งสัมผัสทางตา หู จมูก ปาก และ/หรือ ผิวหนัง การส่งเสริมให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสได้ดี เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง Sensory Play and Arts ช่วยเสริมสร้างได้ดี
  • ในการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและบุคคลรอบตัว เด็กผสมผสานสิ่งต่างๆและเหตุการณ์ต่างๆที่พบเจอในขณะนั้นกับประสบการณ์เดิม ความรู้สึก และความคิดรวบยอดเดิมของเด็กๆเองเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆต่อไป
  • เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุด เมื่อเด็ก active สนใจและพอใจ รู้สึกสนุกสนาน เมื่อเด็กๆได้ทำหรือเรียนรู้สิ่งที่มีความหมายกับตัวเด็กเองด้วยตนเอง เด็กจะประสบกับความปิติยินดีในการเรียนรู้และรู้สึกประสบความสำเร็จ
  • เด็กเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ลงมือทำกิจกรรมและได้รับประสบการณ์ตรง
  • เด็กควรได้เล่น สำรวจ แสดงออก ด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้งในกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ และคนเดียว
  • เด็กต้องการให้ผู้ใหญ่รับฟัง เมื่อเด็กสื่อสารบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเห็นของเด็ก
  • เด็กต้องได้รับการพัฒนาทักษะในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-สัมคม และสติปัญญา
  • เด็กทุกคนต้องการเป็นคนดี และวินัยเชิงบวกจะช่วยเสริมสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีคุณธรรม รับผิดชอบตนเอง ผู้อื่น ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้ตามวัย และการเสริมสร้างบริบท และโอกาสให้เด็กได้แสดงสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมจะ ช่วยนำทางเด็กให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป
  • การที่เด็กใช้ภาษาไทยในการเรียนรู้ จะช่วยให้เด็กบอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึก สิ่งที่คิดได้ดี อันจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในทุกด้าน รวมถึงทักษะการคิดได้อย่างดี
  • เด็กสามารถซึมซับภาษาที่สองได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับภาษานั้นอย่างต่อเนื่องกับบุคคลเจ้าของภาษา
  • การอ่านเขียนเริ่มได้ในวัยอนุบาล โดยการเชื่อมโยงสู่สิ่งที่เด็กสนใจ เริ่มจากการอ่านให้เด็กฟัง จากการส่งเสริมให้เด็กสังเกต ตัวพยัญชนะ ตัวเลข และ alphabets ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก การฝึกกล้ามเนื้อมือเด็กให้มั่นคง เชื่อมโยงการอ่านเขียนกับชีวิตประจำวันของเด็ก เป็นไปตามความสนใจและความพร้อมของเด็กแต่ละคน การเร่งเด็กให้อ่านเขียนเร็วเกินไป เป็นการบดบังเวลาของกิจกรรมที่จะฝึกทักษะการคิดและทักษะอื่นๆเพื่อพัฒนาเด็กในทุกๆด้าน โรงเรียนจะเน้นฝึกให้เด็กอ่านเขียนได้เมื่ออยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 เมื่อเด็กเรียนจบชั้นอนุบาลปีที่ 3 เด็กจะอ่านเขียนได้ทุกคนมากน้อยตามความพร้อมของเด็กแต่ละคน
  • การสื่อสารที่ดีมีคุณภาพระหว่างโรงเรียน ครู และ ผู้ปกครอง มีความสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเด็ก
  • การประเมินพัฒนาการเด็ก ไม่ควรใช้วิธีการทดสอบ แต่ควรใช้วิธีสังเกต และประเมินรายวัน

ในปัจจุบัน การวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของสมอง


ช่วยให้ทราบได้ว่า เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร และทฤษฎีการเรียนรู้ใดมีส่วนใดเป็นประโยชน์ต่อเด็กวัยอนุบาล ทฤษฎีและวิธีการสอนที่โรงเรียนคำนึงถึงและนำมาปรับใช้ในหลักการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีหลายทฤษฎี ได้แก่ Brain Based Learning (การเรียนรู้ตาม ผลวิจัยต่างๆเกี่ยวกับสมอง) Multiple Intelligence (พหุปัญญา หรือ ความฉลาดที่มีหลายด้าน ซึ่งทุกคนมีทุกด้านมากน้อยในแต่ละด้านต่างกันไป) Constructivism และ Constructionism (ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง Learning by Doing) EF หรือ Executive Functions (การพัฒนาทักษะของสมองส่วนหน้า 3 ด้าน หรือ working memory, cognitive flexibility, inhibitory control) Five Minds of the Future (ประกอบด้วยจิต 5 อย่างที่ควรปลูกฝังและเสริมสร้างทักษะให้แก่เด็กคือ จิตวิทยาการ หรือ Disciplined Mind จิตสังเคราะห์ หรือ Synthesizing Mind จิตสร้างสรรค์ หรือ Creating Mind จิตเคารพ หรือ Respectful Mind ซึ่งหมายถึงการนับถือตนเองและเคารพในสิทธิของผู้อื่น รู้เขารู้เราในหมู่บุคคลใกล้ตัว จิตคุณธรรม หรือ Ethical Mind ซึ่งรวมถึงจริยธรรมและการเคารพในสิ่งที่เป็นสาธารณะและธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม)

การหลอมรวมทฤษฎีต่างๆ ในการจัดสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้ให้เด็กๆนั้นโรงเรียนหลอมรวมนวัตกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ Thematic Learning หรือการเรียนรู้ตามหน่วยการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก โดยเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุดออกไปสู่โลกกว้างขึ้น Project Approach (โปรเจคแอพโพรช) เป็นการเรียนรู้อย่างลุ่มลึกเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เด็กสนใจและเลือกที่จะเรียนรู้กันเอง เด็กๆลงมือสำรวจ สัมผัส ทดลอง สืบค้น คิดหาคำตอบ แก้ปัญหากันได้เองโดยมีครูเป็นผู้สนับสนุน การเรียนรู้แบบนี้เปรียบเสมือนการเสริมสร้างทักษะวิจัยแบบง่ายๆที่เด็กได้ใช้ทักษะต่างๆลงมือเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไปได้จนเป็นผู้ใหญ่ Creative Curriculum เป็นวิธีการเรียนรู้ผ่านการเล่นเสรีโดยจัดสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียนให้เด็กเลือกที่จะเล่นและเรียนรู้อย่างเสรีผ่านการเล่น Montessori เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เด็กเลือกการเรียนรู้จากกิจกรรมหลากหลายด้วยตนเอง มีอุปกรณ์เฉพาะในการฝึกทักษะเด็กในด้านต่างๆ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่เลือกนำอุปกรณ์บางอย่างของ Montessori มาให้เด็กได้ใช้ฝึกทักษะ STEAM เป็นการฟูมฟักความรู้ความเข้าใจในโลกรอบตัว

โดยเด็กได้เรียนรู้ทักษะของวิชาต่างๆไปด้วยอย่างแยบยล และลงมือเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง ทักษะวิชาคือ Science หรือ วิทยาศาสตร์ Technology หรือ เทคโนโลยี Engineering หรือวิศวกรรมศาสตร์ Mathematics หรือ คณิตศาสตร์ เด็กเรียนรู้ STEM ผ่านการเล่น การทดลอง และ Arts (ศิลปะรูปแบบต่างๆ)

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services