เหนือฟ้ายังมีฟ้า…เหนือกระดาษยังมีอะไร?


“เหนือฟ้ายังมีฟ้า...เหนือกระดาษยังมีอะไร?” คำถามกวน ๆ ชวนขำที่หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินและได้ทายกันมาบ้างแล้ว คำตอบ คือ “ซาลาเปา” และทุกท่านคงนึกถึงขนมที่ทำจากแป้งนุ่ม ๆ ลักษณะครึ่งทรงกลมสีขาววางอยู่บนกระดาษสี่เหลี่ยม มีไส้หลากหลายทั้งคาวหวานอยู่ข้างใน เช่น หมูสับ หมูแดง ถั่วดำ ครีม เป็นต้น และแต้มด้านบนด้วยจุดแดง แต่จะมีสักกี่คนที่จะนึกไปถึงที่มาของซาลาเปา วิธีทำ หรือได้เคยลองทำด้วยตัวเองบ้าง ?

Project Approach เรื่องซาลาเปา
Project Approach เรื่องซาลาเปา

เด็ก ๆ ชั้นอนุบาล 3/1 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ เป็นกลุ่มเด็กที่สนใจอยากรู้เกี่ยวกับซาลาเปา เด็กทั้งห้องได้ตกลงร่วมกันที่จะเรียนรู้อย่างลุ่มลึกเกี่ยวกับซาลาเปาด้วยการเรียนรู้แบบ Project Approach ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสวงหาความรู้ด้วยตนเองในสิ่งที่สนใจ โดยบูรณาการการเรียนรู้ STEAM เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกที่หลากหลาย ทำให้เด็กได้พัฒนาอย่างเป็นองค์รวม การได้มาซึ่งหัวข้อเรื่อง “ซาลาเปา” เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ในระยะที่ 1 เด็ก ๆ ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในการค้นหาหัวข้อเรื่องที่สนใจอยากเรียนรู้ร่วมกัน เริ่มจากช่วยกันเสนอหัวข้อเรื่อง ได้แก่ วัด แว่นตา ดวงดาว โคมไฟ ดอกทานตะวัน กล้องถ่ายรูป และซาลาเปา

แต่เมื่อเด็ก ๆ ได้ลงคะแนน เลือกตามแนวทางประชาธิปไตยและช่วยกันสรุปผลจากกราฟ เรื่องซาลาเปาได้คะแนนมากที่สุด หลังจากนั้นเด็กทุกคนได้เล่าประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับซาลาเปาให้เพื่อน ๆ และคุณครูฟัง เช่น “ซาลาเปามันนิ่ม มันทำมาจากแป้ง ข้างในแป้งมันมีไส้หลายไส้ มันมีจุด ๆ อยู่ข้างบน มีจุดสีเหลือง จุดสีส้ม จุดสีแดง” เป็นต้น และได้ถ่ายทอดประสบการณ์เดิมเป็นงานสร้างสรรค์ เช่น งานประดิษฐ์เศษวัสดุ ภาพวาด ต่อพลาสติกสร้างสรรค์ ปั้นดินน้ำมัน เป็นต้น และเมื่อเด็ก ๆ ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับซาลาเปาแล้วช่วยกันสรุปเป็นสิ่งที่อยากรู้ได้ 7 เรื่อง ได้แก่ ซาลาเปาคืออะไร ซาลาเปามาจากไหน รูปร่าง / รูปทรง ส่วนประกอบ ขั้นตอนการทำ ซาลาเปาขายที่ไหน ประโยชน์และโทษ และเสนอวิธีการสืบค้นกันหลากหลายวิธี เช่น “ดูใน YouTube เปิดหนังสือพจนานุกรม หาจาก google ถามคนทำซาลาเปา” เป็นต้น

Project Approach เรื่องซาลาเปา
Project Approach เรื่องซาลาเปา Project Approach เรื่องซาลาเปา

เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 ของการเรียนรู้ เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ใช้เวลา 5 สัปดาห์ เด็ก ๆ เริ่มหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยเรื่องแรก คือ “ซาลาเปาคืออะไร” โดยเด็ก ๆ แสดงความคิดเห็นกันก่อนเริ่มค้นหาคำตอบ และเมื่อได้สืบค้นข้อมูลตามวิธีที่วางแผนไว้ ได้พบคำตอบจากหนังสือและอินเทอร์เน็ต เด็ก ๆ พยายามสะกดคำและอ่านความหมายที่ค้นพบให้เพื่อน ๆ ฟัง แล้วจึงช่วยกันสรุปความหมายได้ว่า “ซาลาเปาก็คือขนมของประเทศจีน ทำมาจากแป้งสาลี ปั้นเป็นลูกกลม ๆ เอาไปนึ่ง มีไส้หวาน ไส้เค็ม...” เด็ก ๆ ได้ค้นหาประวัติความเป็นมาของซาลาเปาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คำตอบว่า “ซาลาเปามาจากไหน” และพูดคุยสรุปร่วมกันได้ว่า “ซาลาเปามาจากประเทศจีน เป็นแป้งสาลีที่เอาไปนึ่ง เป็นก้อน ๆ คนจีนเรียกว่าหม่านโถว ตอนแรกยังไม่มีไส้ ต่อมาเริ่มทำไส้ใส่เข้าไป...”

และเด็ก ๆ ได้แบ่งกลุ่มช่วยกัน วาดภาพ เขียนคำบรรยายประกอบ และนำเสนอให้เพื่อน ๆ และคุณครูฟัง เด็ก ๆ ยังคงสืบค้นหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยเรื่อง “รูปร่าง / รูปทรง” และ “ส่วนประกอบ” โดยคุณครูช่วยจัดหาซาลาเปาจริงและซาลาเปาจำลองมาให้เด็ก ๆ ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการสำรวจ สังเกต เปรียบเทียบ คาดคะเนไส้ของซาลาเปาแต่ละลูกและพิสูจน์รสชาติด้วยตนเอง สามารถนำมาบอกเล่าให้เพื่อนและคุณครูฟังได้ เช่น “ผมได้ชิมซาลาเปาไส้ครีม แป้งเป็นรูปกระต่าย เรียกว่า rabbit cream หมั่นโถวมันไม่มีไส้ ก้อนแป้งมันยาว ๆ ซาลาเปาทอด แป้งมันกรอบ ข้างในมีไส้ครีม” เป็นต้น และได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจนได้คำตอบเรื่องจุดแดงบนซาลาเปาและทำไมซาลาเปาถึงมีไส้ แล้วนำมาสรุปร่วมกันได้ว่า “ที่ซาลาเปามีจุดอยู่ข้างบนสีแดงเพราะว่าคนจีนเชื่อว่าแป้งสีขาว ๆ ไม่เป็นมงคล ก็เลยทาจุดสีแดงข้างบน และที่ซาลาเปามีไส้เพราะจะได้แยกได้ว่าอันไหนคือซาลาเปาและอันไหนคือหมั่นโถว”

Project Approach เรื่องซาลาเปา
Project Approach เรื่องซาลาเปา Project Approach เรื่องซาลาเปา

ต่อมาเด็ก ๆ ได้เสนอคุณครู ว่าอยากทำหมั่นโถวและซาลาเปา เพื่อให้ได้คำตอบของ “ขั้นตอนการทำ” เด็ก ๆ ได้ช่วยกันสืบค้นจากหนังสือและอินเทอร์เน็ต ส่วนคุณครูช่วยเตรียมและแนะนำอุปกรณ์และวัตถุดิบสำหรับทำหมั่นโถวให้เด็ก ๆ ได้รู้จัก และลงมือทำจริงด้วยตนเอง เริ่มจากการชั่งตวงวัตถุดิบ ผสมแป้ง นวดแป้งด้วยมือ ตัดแบ่งแป้งเป็นก้อนและพักแป้งไว้จนครบเวลา แล้วจึงนำแป้งไปวางบนกระดาษ และนำไปนึ่งให้สุก โดยเด็ก ๆ ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของแป้งเป็นระยะ

ในส่วนของการทำซาลาเปา ได้เชิญวิทยากร คุณชุติมา ตรีเพิ่มทรัพย์ เจ้าของร้าน Champ Bajang มาให้ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบและขั้นตอนการทำซาลาเปา สอนเด็ก ๆ ทำซาลาเปาไส้หมูสับและไส้ครีม และให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำกันเองตามขั้นตอนที่วิทยากรแนะนำ เช่น การเตรียมแป้ง การเตรียมไส้ การจับจีบซาลาเปา เป็นต้น โดยเด็ก ๆ ได้สังเกตและเปรียบเทียบซาลาเปาที่ยังไม่นึ่งกับที่นึ่งแล้ว และนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เมื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเกิดประสบการณ์จากการลงมือทำหมั่นโถวและซาลาเปาแล้ว จึงนำมาพูดคุยและจัดทำ Venn Diagram เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของทั้งสองอย่าง เช่น “ซาลาเปากับหมั่นโถวมันเหมือนกันตรงที่มันทำมาจากแป้งสาลี ขั้นตอนการทำแป้งเหมือนกัน ซาลาเปามีไส้แต่หมั่นโถวไม่มีไส้” เป็นต้น

Project Approach เรื่องซาลาเปา
Project Approach เรื่องซาลาเปา Project Approach เรื่องซาลาเปา

จากการสืบค้นของเด็ก ๆ เรื่อง ซาลาเปาเอาไปทอดได้หรือเปล่า ได้พบข้อมูลและขั้นตอนการทำ เด็ก ๆ จึงได้ลงมือทำซาลาเปาทอดไส้ครีมกันอย่างสนุกสนาน และนำไปขายให้กับคุณครูในโรงเรียน เด็ก ๆ ตื่นเต้นมากที่ขายซาลาเปาทอดให้คุณครูได้ นำประสบการณ์มาบอกเล่ากับเพื่อน ๆ เช่น “ซาลาเปา 2 ลูก 20 บาท ขายหมดเกลี้ยงเลย” เป็นต้น และสิ่งที่สงสัยเรื่อง “ซาลาเปาขายที่ไหน” เด็ก ๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เช่น “ตลาดคลองเตย ร้าน Haidilao” เป็นต้น

ซึ่งเด็ก ๆ ได้สืบค้นหาร้านขายซาลาเปา ใน Google พบว่า สามารถสั่งออนไลน์ได้ จึงทดลองสั่งจริงผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ และออกไปรอรับซาลาเปาที่มาส่งด้วยตัวเอง และเพิ่มเติมประสบการณ์ให้เด็ก ๆ ได้ไปทัศนศึกษาที่ "วราภรณ์ ซาลาเปา" สาขาบิ๊กซีพระราม 4 ได้เห็นสินค้าในร้านมีทั้งซาลาเปาหลากหลายไส้ หมั่นโถว และอื่น ๆ อีกมาก เด็ก ๆ ได้ลองสั่งสินค้า จ่ายเงิน และรับสินค้าเองตามจุดบริการที่ร้านกำหนด แล้วนำประสบการณ์ที่ได้มาเล่าให้เพื่อนและคุณครูฟัง แล้วก็มาถึงสิ่งที่อยากรู้เรื่องสุดท้าย คือ “ประโยชน์และโทษ” หลังจากการสืบค้นข้อมูล เด็ก ๆ สรุปร่วมกันได้ เช่น “ซาลาเปากินแล้วทำให้อิ่ม พกพาง่าย อุ่นกินได้ง่าย ได้สารอาหารครบ ให้คาร์โบไฮเดรต ให้พลังงาน ถ้าทานเยอะเกินไปมันจะทำให้จุก ปวดท้อง ถ้ากินหวาน ๆ ก็จะทำให้อ้วน” เป็นต้น

Project Approach เรื่องซาลาเปา Project Approach เรื่องซาลาเปา
Project Approach เรื่องซาลาเปา

ในสัปดาห์ที่ 7 เป็นระยะสรุปผลสิ่งที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน เด็ก ๆ ช่วยกันทบทวนสิ่งที่สงสัยและคำตอบที่ได้จากการสืบค้นต่าง ๆ สรุปความคิดรวบยอดเรื่องซาลาเปาพร้อมจัดทำ Mind Map และได้เล่าถึงความประทับใจ ซึ่งส่วนใหญ่ชอบการได้ลงมือทำซาลาเปาเอง และสุดท้ายของกิจกรรม คือ การนำเสนอผลงานนิทรรศการ Project Approach ซึ่งเด็ก ๆ ได้ช่วยกันออกแบบสถานที่ จำลองร้านขายซาลาเปา จัดทำซาลาเปายักษ์ ช่วยจัดวางพร้อมตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานสร้างสรรค์ที่ได้ทำตั้งแต่เริ่มกิจกรรม ซึ่งผลงานบางชิ้นเหมือนของจริงมากจนแยกไม่ออก ในวันแสดงนิทรรศการเด็ก ๆ สามารถบอกเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้อย่างชัดเจน สุดท้ายนี้ขอทิ้งคำถามไว้ให้ได้ขบคิดกันอีกนิดว่า “เหนือซาลาเปายังมีอะไร?”

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services