กระต่ายคู่กับอะไร?


ทุกคนคงคุ้นเคย กับนิทานและการ์ตูนสำหรับเด็ก หนึ่งในตัวละครที่นิยมนำมาวาดและเล่าเรื่องคือ กระต่าย และความทรงจำของทุกคน คือ กระต่ายคู่กับแคร์รอต แต่เมื่อได้เยี่ยมชมนิทรรศการ Project Approach ของเด็กอนุบาลชั้น 2/3 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ กลับได้พบความจริงที่น่าสนใจ ที่เกิดจากการได้เรียนรู้อย่างลุ่มลึกเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กห้องนี้สนใจอยากเรียนรู้ร่วมกัน เรามาดูกันว่าเด็ก ๆ เรียนรู้อย่างไร จึงสามารถเข้าใจและรู้จักกระต่ายได้อย่างลึกซึ้ง

Project Approach เรื่อง กระต่าย
Project Approach เรื่อง กระต่าย

คุณครูไก่ วิวรรณ สารกิจปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ได้วางแนวทางการเรียนรู้ Project Approach ไว้อย่างเข้มข้น ใช้ระยะเวลาถึง 7 สัปดาห์ โดยใช้กระบวนการ STEAM การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอก จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละเรื่อง และใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและทันสมัย พร้อมทั้งเสริมทักษะภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและเกิดประสบการณ์ตรง เริ่มจากระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้น ในสัปดาห์แรกของกิจกรรม เด็กทุกคนได้นำเสนอสิ่งที่สนใจและอยากเรียนรู้ พร้อมเหตุผลในการเลือก เช่น “เรื่องกระต่ายเพราะชอบกระต่าย” “เรื่องแอร์เพราะแอร์ทำให้เราเย็นสบาย” “เรื่องคอนโดเพราะอยากสร้างคอนโด” หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้ช่วยกันระดมความคิดและตัดสินใจเลือก ผลคะแนนจากการเลือกของทุกคน เรื่อง “กระต่าย” มีผู้สนใจมากที่สุดถึง 10 คน

ระยะที่ 2 ของการเรียนรู้ เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ ใช้เวลา 5 สัปดาห์ เริ่มจากเด็กๆ ได้อภิปรายกลุ่มร่วมกันเพื่อหาประเด็นสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับกระต่าย ซึ่งสรุปได้เป็น 6 ประเด็น ได้แก่ กระต่ายคืออะไร ลักษณะของกระต่าย ประเภทของกระต่าย สถานที่พบเจอ ประโยชน์และโทษของกระต่าย และวิธีการดูแลกระต่าย อีกทั้งยังช่วยกันนำเสนอวิธีค้นหาคำตอบในประเด็นต่าง ๆ เช่น “ไปฟาร์มกระต่าย ถามคนเลี้ยงกระต่าย หาใน Google” เป็นต้น และเด็ก ๆ ได้สนุกสนานกับการถ่ายทอดประสบการณ์เดิมของแต่ละคนเกี่ยวกับกระต่ายด้วยการประดิษฐ์ การวาด การปั้น และการเล่า เช่น “กระต่ายคือสัตว์ที่คนเอามาเลี้ยง กินผัก กินแคร์รอต มีหูยาว ๆ” เป็นต้น เด็ก ๆ ทุกคนช่วยกันสะกดคำและพิมพ์ค้นหาความหมายใน Google ค้นหาจากหนังสือและพจนานุกรม โดยครูช่วยอ่านความหมายจากสิ่งที่ค้นพบและร่วมพูดคุยกับเด็ก ๆ สรุปความหมายร่วมกันได้ว่า “กระต่ายคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนนุ่ม มีหูยาว มีหางสั้น กระโดดและวิ่งได้ กินพืชเป็นอาหาร...”

Project Approach เรื่อง กระต่าย Project Approach เรื่อง กระต่าย
Project Approach เรื่อง กระต่าย Project Approach เรื่อง กระต่าย

การค้นหาคำตอบ ยังดำเนินต่อไปด้วยการสืบค้นจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต การดูคลิปวีดิโอ ฟังเรื่องเล่าจากเพื่อนที่เคยไปฟาร์มกระต่าย และผู้ปกครองนำกระต่ายที่เลี้ยงไว้มาให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสเรียนรู้และฝึกการสังเกต รูปร่าง ลักษณะ จนสามารถสรุปร่วมกันได้ว่ากระต่ายมีลักษณะอย่างไร เช่น “กระต่ายมีหนวด มีหูไว้ฟังเสียง บางตัวหูสั้น บางตัวหูยาว” เป็นต้น และจำแนกประเภทได้ 2 ชนิด แบ่งออกเป็นกระต่ายป่าและกระต่ายที่เลี้ยงไว้ในบ้าน สามารถอธิบายลักษณะของกระต่ายป่าได้ เช่น “กระต่ายป่าชอบอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ จะมีหูเรียวยาว...” ส่วนกระต่ายเลี้ยงมีลักษณะ “ขนนิ่ม ๆ มีหางสั้น ๆ ตากลม ๆ ...” และเด็ก ๆ ยังช่วยกันอธิบายลักษณะของสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ เช่น พันธุ์ฮอลแลนด์ลอป – เกิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตัวไม่ใหญ่มาก ไม่ดุร้าย พันธุ์มินิลอป – เป็นกระต่ายที่ผสมหลายสายพันธุ์ ชอบอยู่กับคน พันธุ์แคลิฟอร์เนียน – เป็นกระต่ายที่ตัวใหญ่ เลี้ยงไว้แสดงโชว์ พันธ์เฟรนช์ลอป – น่ารักและฉลาด ขนหนามาก พันธุ์เฟลมมิชไจแอนท์ – เป็นกระต่ายที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ชอบกระโดด เป็นต้น

เด็ก ๆ ยังได้ช่วยกันเปรียบเทียบ ความเหมือนและความต่างของกระต่ายกับกระรอก โดยเด็ก ๆ ได้ช่วยกันบอกเล่าแล้วครูช่วยแนะนำว่าอะไรเหมือนหรือต่างกัน ใส่ในช่อง Venn Diagram ช่องใด เช่น “กระรอกและกระต่ายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน” “กระรอกมีหางเป็นพวงยาว ๆ กระต่ายมีหางกลม ๆ สั้น ๆ” เป็นต้น และเด็ก ๆ ช่วยกันไขข้อสงสัยว่ากระต่ายมันอยู่ที่ไหนได้ว่า “กระต่ายพบได้ทั่วโลก ยกเว้นที่ทวีปแอนตาร์กติกาไม่มีกระต่ายเพราะมันหนาวเกินไป ที่ทะเลทรายมีกระต่ายทะเลทราย ที่มีหิมะตกก็มีกระต่ายเรียกว่ากระต่ายป่าสโนว์ชู และยังพบได้ที่ฟาร์มกระต่าย คาเฟ่กระต่าย รีสอร์ทและโรงแรม โรงพยาบาลสัตว์ ร้านขายกระต่าย และสวนสัตว์”

Project Approach เรื่อง กระต่าย
Project Approach เรื่อง กระต่าย

ในระหว่างการค้นหาคำตอบ ของประเด็นต่าง ๆ การมาของเจ้า “บราวนี่” กระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป ช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสสังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมของกระต่ายอย่างใกล้ชิด โดยเด็ก ๆ ช่วยกันเลี้ยง ให้อาหารและน้ำ ดูแลรักษาความสะอาดเป็นประจำทุกวัน ช่วยให้เด็กได้ฝึกความรับผิดชอบ ความมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ รู้จักรักษาความสะอาดของร่างกายหลังทำกิจกรรม ฝึกสังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรมของเจ้าบราวนี่ เช่น อาการใช้เท้ากระทืบกรงจนเกิดเสียงดัง น่าจะเกิดจาก “กระต่ายมันกำลังโมโห” “มันอยากเข้ามาเล่นกับเด็ก ๆ ในห้อง” “มันน่าจะร้อนมาก” เป็นต้น ซึ่งหลังจากตั้งสมมติฐานกันแล้วก็ได้ช่วยกันค้นหาคำตอบได้ว่า เป็นพฤติกรรมเพื่อเตือนภัยกระต่ายตัวอื่น โกรธ เป็นการขู่ ร้อน และไม่อยากย้ายที่อยู่

เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับความรู้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระต่าย จึงจัดให้เด็กได้ไปทัศนศึกษาที่ Bunnierista คาเฟ่กระต่าย และเชิญคุณอรุณี กตัญญูตานันท์ เจ้าของรีสอร์ต Rabbiz Hill Resort มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับกระต่ายพันธุ์ไทย และคุณปาริชาติ ภิรมจิตรผ่อง ผู้ปกครองน้องนดาได้ติดต่อร้าน Bunny Camp มาเป็นวิทยากรในเรื่องกระต่ายสายพันธุ์ต่าง ๆ เด็กได้เห็นและสัมผัสกับกระต่ายหลากหลายสายพันธุ์ และได้รับความรู้เพิ่มเติมจากสัตวแพทย์ คุณสินี สุริยพัฒนพงษ์ ผู้ปกครองน้องพาดา ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การเลี้ยงและดูแลกระต่ายอย่างถูกวิธี เช่น “ต้องจับที่ตัวมันเอามาไว้ที่อก ไม่จับที่หู อาบน้ำไม่ได้ กินผักที่มีน้ำไม่ได้จะทำให้มันท้องเสีย เช่น แตงกวา แคร์รอต อาหารที่เหมาะกับกระต่าย คือ หญ้าแห้งซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร ลับฟันกระต่ายให้สั้นลง เช่น หญ้าอัลฟัลฟา หญ้าทิโมธี เหมือนที่เจ้าบราวนี่กินอยู่ หากมันสบายใจมันจะนอนเหยียดขาและถ้ามีเสียงร้องแสดงว่าป่วยหนัก” เป็นต้น

Project Approach เรื่อง กระต่าย Project Approach เรื่อง กระต่าย
Project Approach เรื่อง กระต่าย

และในประเด็นสุดท้าย เด็ก ๆ ได้ร่วมกันสืบค้นและอภิปรายจนได้ข้อสรุปประโยชน์ของกระต่าย เช่น “กระต่ายเลี้ยงไว้ดูเล่น เอามาทำอาหารได้ เนื้อกระต่ายมีโปรตีนสูง มีไขมันต่ำ ขนกระต่ายทำเครื่องนุ่งห่มได้ เป็นสัตว์ทดลองของแพทย์ แสดงโชว์ได้” ส่วนโทษของกระต่าย เช่น “ถ้าเราเอามือไปใกล้ปากมัน มันก็กัดเราได้ เวลาเลี้ยงต้องใช้เงินเยอะ มันจะสกปรก มีเชื้อโรค คนที่เป็นภูมิแพ้ไม่ควรเลี้ยงกระต่ายเพราะจะแพ้ขนกระต่ายได้” เป็นต้น

ระยะสรุปในสัปดาห์ที่ 7 ของการเรียนรู้ เด็ก ๆ ได้ช่วยกันสรุปในทุกประเด็นที่สงสัยอยากรู้ได้อย่างครบถ้วน ช่วยกันแต่งนิทาน วาดภาพประกอบ ออกมาเล่านิทาน ออกแบบนิทรรศการเรื่องกระต่าย ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ และตกแต่งห้องเรียนด้วยกระต่ายยักษ์จากลูกโป่ง บ้านกระต่ายจำลอง กรงกระต่ายของเจ้าบราวนี่ พร้อมผลงานที่หลากหลายของเด็ก ๆ และภาพถ่ายกิจกรรม ซึ่งผู้เยี่ยมชมนิทรรศการคงรู้สึกประทับใจ และได้รับความรู้ใหม่ ๆ จากเด็กตัวน้อยว่า “กระต่ายไม่ได้คู่กับแคร์รอตนะครับ มันกินเยอะ แล้วมันจะป่วยและตายได้”

Project Approach เรื่อง กระต่าย Project Approach เรื่อง กระต่าย

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services