“เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”


“รับขนมไทยมั้ยครับ-ค่ะ” เสียงเจื้อยแจ้วจากเด็ก ๆ ชั้นอนุบาลปีที่ 2/3 ที่กำลังเชิญชวนผู้ปกครองให้เข้าร้าน “กุ๊กไก่ขนมไทย” ที่เปิดบริการในงานนิทรรศการ Project Approach ของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ภายใต้การบริหารงานของคุณครูไก่ วิวรรณ สารกิจปรีชา ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตนเองให้ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจได้เห็นถึงพัฒนาการของเด็กที่เป็นไปตามเป้าหมายทั้ง 6 ด้าน ตามหลักสูตรของโรงเรียน คือ พัฒนาด้านบุคลิกภาพ อารมณ์-จิตใจ และสังคม พัฒนาด้านการสื่อสาร ภาษา และการอ่านเขียน พัฒนาด้านคณิตศาสตร์พัฒนาด้านความรู้ และความเข้าใจในโลกรอบตัว พัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาด้านร่างกาย

Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”
Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”

ในทุกปีการศึกษา โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่จัดให้มีการเรียนรู้แบบ Project Approach บูรณาการร่วมกับการเรียนรู้แบบ STEAM ตามแนวทางของโรงเรียน เริ่มกิจกรรมระยะเริ่มต้น โดยเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2/3 ทุกคนได้ลงชื่อเลือกหัวข้อเรื่องที่สนใจ โดยเรื่อง “ขนมไทย” ซึ่งมีเด็กเลือกมากที่สุดถึง 11 คน

แต่ละคนได้ถ่ายทอดประสบการณ์ เกี่ยวกับขนมไทยที่รู้จักผ่านการวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน ประดิษฐ์จากเศษวัสดุ และการเล่า เช่น น้องภูมิใจ “ทองม้วนเป็นขนมไทย กลม ๆ ยาว ๆ กรอบ ๆ มันหวาน ๆ ภูมิใจเคยกินทองม้วน มีไอติมโบราณด้วย รสชาติมันหวาน น้องพัตเตอร์ “ได้ทำขนมบัวลอยที่โรงเรียน ทำจากแป้ง ใส่สีเขียวจากใบเตย แล้วใส่น้ำกะทิลงไป รสชาติหวานอร่อย” น้องเจย์ “เจย์รู้จักขนมไทยฝอยทอง มันเป็นเส้น ๆ ยาว ๆ เจย์เคยกิน รสชาติหวาน” น้องชาญ “ชาญไม่เคยกินขนมไทย เคยเห็นขนมไทยสีเหลือง” เป็นต้น เมื่อรวบรวมประสบการณ์เดิมของเด็ก ๆ ได้แล้ว จึงช่วยกันตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัยสรุปเป็นประเด็นได้ 7 ประเด็น ได้แก่ ขนมไทย คืออะไร เพราะอะไรต้องมีขนมไทย ขนมไทยทำจากอะไร ขนมไทยทำอย่างไร ขนมไทยมีรสชาติอะไร ขนมไทยมีประโยชน์หรือเปล่า ซึ่งเด็ก ๆ จะมีเวลาสืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบเป็นเวลา 4 สัปดาห์

Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย” Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”
Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย” Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”

ระยะที่สอง เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ โดยเริ่มจากหาวิธีสืบค้นข้อมูล ซึ่งเด็ก ๆ ช่วยกับเสนอวิธีการหลากหลาย เช่น น้องเอมิ “ให้หาจากอินเทอร์เน็ต เข้าไปที่ google” น้องตั่งตั๋ง “เราอยากรู้จักขนมไทยต้องสำรวจต้องกิน” เป็นต้น เด็ก ๆ เริ่มจากการหาความหมายของขนมไทยด้วยการช่วยกันพิมพ์คำค้นหาใน Google และเปิดหาจากพจนานุกรม เมื่อพบข้อมูลครูจะช่วยอ่านให้ฟัง และเด็ก ๆ ช่วยกันสรุปร่วมกัน ได้ความหมายของขนมไทย เช่น น้องลดา “ขนมไทยคือขนมของประเทศไทย ทำจากแป้ง ข้าว น้ำตาล มีหลายสี กลิ่นหอม เช่น ลูกชุบ” น้องขิม “ขนมไทยเป็นของหวานของประเทศไทย ทำจากแป้ง ไข่ ข้าว กะทิ น้ำตาล ขนมไทยรสชาติหวาน มีหลายสี มีขนมฝอยทอง ขนมอาลัว ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้” เป็นต้น และยังได้ค้นหาประวัติขนมไทย

เพิ่มเติม โดยการสืบค้นจากสารานุกรม หนังสือขนมไทย และอินเทอร์เน็ต ทำให้เด็กรู้ว่ามีขนมไทยแท้ดั้งเดิมกับขนมไทยดัดแปลง เช่น น้องวายุ “คนชื่อท้าวทองกีบม้าเป็นคนโปรตุเกสมาสอนทำขนมไทยที่ใส่ไข่ เช่น ฝอยทอง ทองหยอด ทองหยิบ”

Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”
Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”

น้องฟอเรส “ขนมไทยแท้ทำจากมะพร้าว กะทิ มีแป้ง ขนมฝอยทองใส่ไข่เป็นขนมไทยดัดแปลง” ได้เห็นการทำขนมด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งใช้แบ่งประเภทของขนมไทยได้ เช่นที่น้องรินบอก “แบ่งขนมไทยตามวิธีการทำ” น้องตั่งตั๋ง “แบ่งได้ 9 ประเภท” น้องมิลิน “ขนมถั่วแปบทำจากแป้งเอาไปต้มแล้วมาโรยมะพร้าว” และได้ช่วยกันสำรวจขนมไทยของจริงตามที่เด็ก ๆ เสนอ โดยได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ลองชิมขนมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดให้รับประทาน ทำให้เด็กได้รู้จักและชื่นชอบขนมไทยมากขึ้น รู้ถึงชื่อ ลักษณะ รสชาติ เช่น น้องเจด “ชอบขนมเม็ดขนุนมันหวานและนิ่มมีไส้ถั่วด้วย ชอบทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เพราะรสชาติหวาน” น้องลดา “ขนมไทยมันอร่อยมีหลายอย่าง มีขนมบัวลอยมันหวานใส่น้ำกะทิ ฝอยทองเป็นเส้น ๆ ยาว ๆ ขนมชั้นมันจะเหนียว ๆ เม็ดขนุนเป็นวงรี ทองหยอดเป็นวงกลม”

และเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ด้วยการปฏิบัติจริง ครูจึงได้จัดหาวัตถุดิบในการทำขนมไทยตามที่เด็ก ๆ ค้นพบในหนังสือขนมไทยและจากอินเทอร์เน็ตมาให้เด็กได้เรียนรู้ เด็ก ๆ สามารถบอกเล่าเกี่ยวกับวัตถุดิบได้ เช่น น้องปริญญ์ “แป้งต้องผสมกับน้ำแล้วเอามานวด” น้องธีม “มะพร้าวเอามาทำเป็นน้ำกะทิ” น้องเรนนี่ “สมัยก่อนกว่าจะได้แป้งต้องเอาข้าวไปตำ ๆ แล้วใช้เครื่องโม่แป้ง” น้องใบไม้ “มีมะพร้าวที่ขูดแล้วสีขาว ๆ นิ่ม ๆ มีไข่เป็ดกับไข่ไก่ทำขนมได้ มีน้ำกะทิสีขาว แป้งเอามาทำขนมได้ มันเป็นผง น้ำตาลเป็นเม็ด ๆ มีน้ำตาลทำจากอ้อย” ได้ทดลองคั้นน้ำกะทิ ขูดมะพร้าว แยกไข่แดง ไข่ขาว ผสมแป้ง และเคี่ยวน้ำเชื่อมกันอย่างสนุกสนาน

Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”
Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”

และเพื่อตอบสนองความสนใจ ของเด็ก ๆ ที่อยากทำขนมลูกชุบ ผู้ปกครองของน้องพีน่าจึงได้เชิญพี่ปุ้ยและพี่จุ๋ม จากร้านลูกชุบคุณทอม ร้านขนมโฮมเมด มาให้ความรู้และให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งการปั้นถั่วกวน การระบายสีตกแต่ง และการชุบน้ำวุ้น

และเด็ก ๆ ก็ยังสนใจอยากลอง ทำขนมฝอยทอง จึงช่วยกันค้นหาข้อมูล ศึกษาวัตถุดิบ ขั้นตอนวิธีการทำ จัดทำเป็นแผ่นชาร์ต และได้ลงมือทำด้วยตนเองตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเล่าขั้นตอนการทำได้อย่างชัดเจน เช่น น้องริน “หนูทำขนมฝอยทอง หนูตอกไข่ แล้วหนูก็แยกไข่แดงกับไข่ขาวแต่หนูทำไข่แดงแตกหมดเลย หนูก็เลยใช้ช้อนตักไข่ขาวออก แล้วหนูก็เอาไข่แดงไปตี แล้วใส่น้ำมันพืชลงไป 1 ช้อนชา แล้วก็บีบไข่แดง แล้วหนูก็บีบไข่แดงที่อยู่ในถุง บีบใส่ลงในน้ำเชื่อมที่เดือด ๆ ไข่ก็ออกมาเป็นเส้นเล็ก ๆ บีบหมุนรอบ ๆ เป็นวงกลม ใช้ไม้แกว่งน้ำเชื่อมที่มีเส้นฝอยทองติดอยู่ แล้วก็ยกลงมาวางไว้บนตะแกรง” น้องพีน่า “ถ้าไม่แยกไข่ขาวออกมาด้วยก็จะทำให้ขนมมีกลิ่นไม่หอมได้” เป็นต้น

Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”
Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”

และอีกหนึ่งขนมที่เด็กสนใจ คือ ไอติมโบราณ หรือไอติมหลอด ซึ่งครูได้จัดเตรียมถังไอติมมาให้เด็กได้ทดลองทำกันอย่างสนุกสนานตั้งแต่เตรียมถังไอติม ใส่น้ำแข็ง เกลือเม็ด ผสมน้ำหวาน เทลงพิมพ์ และช่วยกันเขย่าเพื่อให้เป็นน้ำแข็งเร็วขึ้น มาถึงประเด็นสุดท้ายที่เด็ก ๆ ได้ช่วยกันหาข้อมูลและสรุปเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของขนมไทย ก็สามารถบอกเล่าได้อย่างมีเหตุผล เช่น น้องอัลมอนด์ “ขนมไทยมีประโยชน์กินแล้วอร่อยแข็งแรง” น้องเก้า “ขนมไทยใส่ไข่ กินไข่แล้วร่างกายแข็งแรง ไข่ก็อร่อยด้วย ต้องกินขนมไทยแบบพอดีจะได้ไม่อ้วน” เป็นต้น

ในระยะสรุป ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 6 ของการเรียนรู้ ครูได้สรุปทบทวนความรู้กับเด็ก ๆ ซึ่งสามารถตอบคำถามได้ครบทุกประเด็นอย่างชัดเจน และยังได้ช่วยกันวางแผนออกแบบการนำเสนอผลงานในงานนิทรรศการ โดยจัดทำ “ร้านกุ๊กไก่ขนมไทย” จัดทำขนมไทยจำลองด้วยวัสดุที่หลากหลายวางลงบนใบตองในตะกร้าอันใหญ่ จัดตกแต่งร้านด้วยภาพวาด งานปั้นดินน้ำมัน งานประดิษฐ์ต่าง ๆ และพร้อมเปิดบริการให้ผู้ปกครองและผู้สนใจเข้ารับฟังการนำเสนออย่างตั้งใจของเด็ก ๆ และชื่นชมผลงานจากฝีมือของบุตรหลาน จึงทำให้รู้ว่าเด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย

Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย” Project Approach ขนมไทย “เด็กไทยยุคใหม่...ไม่ลืมขนมไทย”

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services