“เปิดโลกของหน้ากาก”


“ทำไมเราต้องใส่หน้ากาก” คำถามจากน้องเจลลี่ และอีกหลายคำถามเกี่ยวกับ “หน้ากาก” จากเด็ก ๆ ห้องอนุบาลปีที่ 2/1 ที่กำลังเรียนรู้ด้วยกระบวนการ Project Approach ผสมผสานการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ STEAM ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างลุ่มลึกในสิ่งที่สนใจและตกลงร่วมกัน โดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือการแสวงหาความรู้ของเด็ก ผู้ปกครองและผู้บริหารสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความสนใจของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ โดยใช้เวลาเรียนรู้รวม 6 สัปดาห์

Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”
Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”

เริ่มจากสัปดาห์แรก ของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้น เด็กทุกคนได้เสนอหัวข้อเรื่องที่แต่ละคนสนใจพร้อมด้วยเหตุผลที่เลือก ซึ่งมีเรื่องที่หลากหลายมาก แต่เมื่อระดมความคิดเห็นร่วมกันสรุปได้เป็น 5 เรื่อง ได้แก่ หน้ากาก กระติก ดอกมะลิ นักร้อง และแมว ซึ่งเด็กแต่ละคนได้ลงชื่อเลือกเรื่องที่สนใจ โดยเรื่องที่เด็ก ๆ สนใจและเลือกมากที่สุด คือ “หน้ากาก” จึงตกลงร่วมกันตามแนวทางประชาธิปไตย ใช้เรื่องนี้ในการเรียนรู้ และก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้ในระยะต่อไป เด็ก ๆ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เดิมของแต่ละคนที่มีต่อหน้ากากผ่านการเล่า เช่น น้องมาริกะ “หนูมีหน้ากากที่เป็นยูนิคอร์นมันเป็นหน้ากากอนามัย” น้องฑัต “มีหน้ากากเหล็กและชาร์จแบตได้ด้วย เหล็กมันหนักมาก แต่ข้างในเป็นเหล็กและมียางรอง มีรูไว้มองเห็น” เป็นต้น และยังมีงานปั้น งานประดิษฐ์ ภาพวาด ที่ถ่ายทอดประสบการณ์เดิมของเด็กได้ และครูให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดตั้งคำถามในสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับหน้ากาก มีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น น้องแจ๊กซี่ “อยากรู้ว่าใครทำหน้ากากเป็นคนแรก” น้องกะทิ “อยากรู้ว่าหน้ากากกันโควิดได้จริงไหม” เป็นต้น ซึ่งสรุปเป็นประเด็นสิ่งที่อยากรู้ของเด็กได้ 5 ประเด็น ได้แก่ 1. หน้ากาก คืออะไร / ใครเป็นคนคิดค้น 2. วิธีทำ / วัสดุที่ใช้ทำ มีอะไรบ้าง 3. มีกี่ประเภท / รูปทรง / ลวดลาย / สี 4. มีขายที่ไหนบ้าง / ใครบ้างที่ขาย / ราคากี่บาท และ 5. ประโยชน์ ซึ่งจะนำไปค้นหาคำตอบในระยะการเรียนรู้ต่อไป

ระยะการเรียนรู้ที่ 2 การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ ใช้เวลา 4 สัปดาห์ ให้เด็กได้แสวงหาความรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายด้วยตนเอง โดยเด็ก ๆ ได้ตั้งสมมติฐานไว้ก่อน เช่น น้องมาวิน “หน้ากากเอาไว้ใส่ตอนเราไปเที่ยวงาน เอาไว้กันน้ำลายเวลาพูด” น้องจีเนียส “หน้ากากเอาไว้ใส่ตอนวันฮาโลวีน” น้องดีว่า “คิดว่าดาราเป็นคนทำหน้ากาก” น้องอานา “ผู้เชี่ยวชาญด้านเกี่ยวกับหน้ากากเป็นคนทำ” และช่วยกันเสนอวิธีการค้นหาความหมายและประวัติความเป็นมา เช่น การสืบค้นจากหนังสือพจนานุกรม การสอบถามจากผู้ปกครอง ค้นหาในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และนำเสนอข้อมูลร่วมกันสรุปได้ว่า “หน้ากาก คือ เครื่องบังใบหน้าทั้งหมด หรือบางส่วน สวมใส่เพื่อป้องกันสิ่งต่าง ๆ ใส่เพื่อปกปิดใบหน้า ใส่เพื่อเป็นการแสดง หรือเพื่อความบันเทิง มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีหมอรักษาโรคจะแต่งชุดคลุมทั้งตัว และปกปิดใบหน้าด้วยหน้ากากที่มีลักษณะเหมือนนก ซึ่งการออกแบบนั้นเป็นแนวคิดของ Charles de Lorme (ชาร์ล เดอ ลอร์เม) หมอผู้ทำการรักษาให้กับเชื้อพระวงศ์ในยุโรป”

Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”
Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”

เมื่อเด็กได้รู้ถึงความหมาย และความเป็นมาแล้ว ครูให้เด็กช่วยกันสำรวจหน้ากากจากตัวอย่างหน้ากากหลากหลายแบบที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง คุณครูไก่ และคุณครูแวว ทำให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ถึงลักษณะ ขนาด วัสดุ สี และได้ลองประดิษฐ์หน้ากากตามจินตนาการของตนเองและนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง เช่น น้องกวิน “นี้คือหน้ากากปีศาจสีชมพูทำจากพลาสติก มีสายรัดด้านหลังสีดำ มันยืดได้ เอาไว้ใส่ที่บ้าน หน้ากากอนามัยใส่กันเชื้อโรค…” น้องริตา “นี่คือหน้ากากสัตว์หน้าแมวสีเทา มีจมูกนุ่ม ๆ และก็มีจมูกทำจากปอมๆ กลมๆ หน้ากากแบบนี้เอาไว้ใส่เล่นหรือใส่ไปในงานคือหน้ากากแฟนตาซี”

และช่วยกันสรุป เป็นประเภทของหน้ากากจากความเหมือนและความต่าง อีกทั้งยังได้ช่วยกันหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เช่น น้องมินาโตะ “มินาโตะมีหน้ากากอนามัยสีขาว นิ่ม ๆ ตรงบนจมูกมีเส้นแข็ง ไม่ปิดตา หน้ากากซุปเปอร์ฮีโร่ปิดตาได้ ป้องกันเชื้อโรคไม่ได้ แต่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรคได้ น้องไท่ซาน “หน้ากากอนามัยมีหลายแบบ ของไท่ซานเป็นแบบป้องกันเชื้อโรค เช่น โควิด หน้ากากอนามัยมีแบบกระดาษ มีแบบผ้า สีก็แตกต่างกัน ลายก็แตกต่าง” และหน้ากากผีตาโขนที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น น้องมู่จิน “หน้ากากผีตาโขนมีสีสดใส มีหูแหลม ๆ 2 ข้าง คิดว่าเขาใช้ไม้ในการทำ” น้องลีญา “หน้ากากผีตาโขนทำจากไม้ไผ่ เอาไม้มาสานกันทำเป็นส่วนหัว แล้วก็ทาสี ให้สวย ๆ ใช้ผ้าสีดำตกแต่งมีลวดลาย ใช้สีในการวาดลวดลายสวย ๆ” และประเภทสุดท้าย คือ หน้ากากแฟนตาซี ที่เด็กได้แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน เช่น น้องภีมร์ “มันเป็นหน้ากากผี เรียกว่าหน้ากากแฟนตาซี แล้วก็มีผ้าสีดำบาง ๆ เอาไว้คลุมที่หัว เวลาเพื่อนใส่แล้วหนูกลัวนิดหน่อย” น้องมิงค์ “หน้ากากกระดูก มันมีฟันเยอะ มันตลก ตามันเป็นรูใหญ่ ๆ แล้วก็มีจมูกที่ข้างในเป็นสีดำ หนูคิดว่ามันทำมาจากไม้เพราะว่ามันหนักแล้วก็แข็ง” ซึ่งหน้ากากแต่ละประเภทเด็กได้เรียนรู้เพิ่มเติมจาก YouTube ทำให้มีความเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก” Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก” Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”
Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”

น้องฟอเรส และสิ่งที่เด็กช่วยกันหา คำตอบถัดไป คือ หน้ากากมีขายที่ไหน ใครเป็นคนขาย และราคาเท่าไหร่ ซึ่งเด็ก ๆ ได้เล่าประสบการณ์ของแต่ละคน เช่น น้องปานะ น้องลีญา น้องเจลลี่ “เคยเห็นขายอยู่ใน Big C” น้องพาย “พ่อค้าขายหน้ากาก ขายที่ตลาด ขายหน้ากากแฟนตาซี ราคา 5 บาท” น้องกวิน “หน้ากากมีขายที่สำเพ็ง ขายราคา 10 บาท” เป็นต้น และได้จำลองร้านขายหน้ากากให้เด็ก ๆ สวมบทบาทสมมติเป็นเจ้าของร้าน และซื้อขายกันอย่างสนุกสนาน และประเด็นสุดท้ายที่เด็ก ๆ ได้ช่วยกันค้นหาคำตอบ คือ ประโยชน์และโทษของหน้ากาก ซึ่งสามารถบอกเล่าได้ดี เช่น น้องลิฌา “หน้ากากใส่ไว้เพื่อไปแสดงเพื่อความบันเทิง ใส่หน้ากากเพื่อดำน้ำจะได้ไม่แสบตา” น้องอานา “หน้ากากโขนใส่เพื่อทำการแสดง หน้ากากผีตาโขนใส่เพื่อทำพิธีกรรม และหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค” น้องดีว่า “ใส่หน้ากากนานหน้าจะเป็นผื่น” น้องมิงค์ “ถ้าใส่หน้ากากเป็นเวลานาน ๆ เราอาจจะหายใจไม่ดี สายรัดมันจะรัดตึงทำให้เราเจ็บหู” เป็นต้น ซึ่งเด็ก ๆ ได้ช่วยกันแสวงหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยได้อย่างครบถ้วน

โดยในช่วงของการรวบรวมข้อมูล ของเด็ก ๆ ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ปกครองของน้องริตา และผู้ปกครองของน้องดีว่า เข้ามาสาธิตและนำเด็ก ๆ ประดิษฐ์หน้ากากรูปสัตว์ คุณวิชชพัชธ์ และคุณวรวลัญช์ (ผู้ปกครองของน้องไท่ซาน) ได้เข้ามาทำกิจกรรมโดยเล่านิทานเกี่ยวกับประวัติหน้ากากโขนพร้อมชมดูละครประกอบ และคุณเอมมี่ (ผู้ปกครองของน้องมู่จิน) และคุณหฤทัยได้นำหน้ากากจีนที่ทำจาก เปเปอร์มาเช่มาให้เด็ก ๆ ได้สังเกตและสัมผัส และเด็กได้ลงมือระบายสีหน้ากากของตนเองตามใจชอบ

Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก” Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก” Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”
Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”

และได้เชิญคณะอาจารย์ จิรกร จิตวโรภาส จากสถาบันส่งเสริมศิลปะการแสดงจีน เข้ามาแสดงโชว์เปลี่ยนหน้ากากของจีนให้เด็ก ๆ ได้ดู เด็กได้ร่วมแสดง สร้างความสนุก ตื่นเต้น ให้เด็กได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา

และเด็ก ๆ สัปดาห์ที่ 6 เป็นระยะสรุป ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการเรียนรู้ เด็ก ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับหน้ากากที่ได้เรียนรู้ร่วมกันมาผ่านการบอกเล่า การวาดภาพ การประดิษฐ์ สะท้อนให้เห็นองค์ความรู้ที่ตกผลึกอยู่ในตัวเด็กได้อย่างชัดเจน และยังช่วยกันออกแบบนิทรรศการ ตกแต่งจัดวางผลงานเพื่อให้ผู้ปกครองและผู้สนใจได้ชื่นชม

หากท่านสนใจลองแวะเยี่ยมชมนิทรรศการและรับฟังการนำเสนอของเด็ก ๆ อย่างตั้งใจ จะเหมือนได้ท่องไปในโลกของหน้ากากอย่างเพลิดเพลิน

Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก” Project Approach หน้ากาก “เปิดโลกของหน้ากาก”

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services