ในบรรดาสิ่งมีชีวิต “ม้า” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ทุกคนรู้จัก คุ้นเคย และเป็นสัญลักษณ์ของความเร็ว แต่ถ้าท่านอยากรู้จักม้าอย่างถ่องแท้ คงต้องถามจากเด็กอนุบาลชั้นปีที่ 3/2 ที่จะสามารถอธิบายเกี่ยวกับม้าให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้แบบลุ่มลึกผ่านกระบวนการเรียนรู้ Project Approach ในแบบฉบับของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ มาลองดูว่าเด็ก ๆ เรียนรู้อย่างไรให้ลึกซึ้งในสิ่งที่สนใจ
เริ่มกระบวนการเรียนรู้ ระยะเริ่มต้นในสัปดาห์แรกด้วยการร่วมกันคิดหัวข้อเรื่องที่สนใจ เด็กทุกคนได้ร่วมเสนอเรื่องที่สนใจอย่างมีเหตุผลและเรื่องที่เด็กสนใจมากที่สุด คือ “ม้า” ซึ่งเด็กได้ถ่ายทอดประสบการณ์เดิมของแต่ละคนผ่านการเล่า การปั้น การวาดภาพ เช่น น้องปราชญ์ และน้องติน เคยเห็นม้าวิ่งที่สนามโปโลคลับ น้องปั้น น้องข้าวหอม น้องทาร์เก็ต น้องปุณณะ น้องคิน น้องต้นข้าว น้องภูผา น้องตินตินเคยได้ขี่ม้า เป็นต้น หลังจากนั้นครูและเด็กทุกคนร่วมพูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับม้า ซึ่งสรุปเป็น Web Diagram ได้ 5 ประเด็น ได้แก่ ม้าคืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีกี่สายพันธุ์ ธรรมชาติของม้าเป็นอย่างไร และประโยชน์และโทษของม้า โดยเด็ก ๆ ได้เลือกวิธีการค้นหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น การสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต Google YouTube สารานุกรม การสอบถามจากผู้รู้ เป็นต้น
ในสัปดาห์ที่ 2 ถึง 5 เป็นระยะสืบค้น เด็ก ๆ ได้ช่วยกันตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับม้าและแบ่งกลุ่มช่วยกันสืบค้นข้อมูลเพื่อหาความหมายและความเป็นมาของม้า และสรุปข้อมูลร่วมกันได้ว่า “ม้า” คือ ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Equus caballus (Linn.) ในวงศ์ Equidae มีกีบเดี่ยว รูปร่างสูงใหญ่ ขายาว หางเป็นพู่ มีขนแผงคอยาววิ่งได้เร็ว ใช้เป็นพาหนะขับขี่และเทียมรถ
ถือกำเนิดเมื่อ ประมาณ 55 ล้านปีที่แล้ว มีนิ้วเท้า 5 นิ้ว มีชื่อเรียกว่า Eohippus และวิวัฒนาการกลายเป็นนิ้วเดียวที่เรียกว่า กีบ หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้ช่วยกันหาคำตอบว่าม้ามีลักษณะอย่างไร โดยการสังเกตและสำรวจจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ม้าจำลอง สารานุกรม วีดิทัศน์ เป็นต้น และถ่ายทอดลักษณะของม้าออกมาเป็นภาพวาด
ภาพปะติดจากเศษวัสดุ ผลงานสิ่งประดิษฐ์ ที่มีรายละเอียดของม้าอย่างชัดเจน เช่น มีขายาว 4 ขา มีแผงคอ มีเท้าเรียกว่า กีบ มีหางยาวเป็นพู่ มีหลากหลายสี เป็นต้น ตรงกับคำบอกเล่าของเด็ก ๆ เช่น น้องอองจ์ “ม้าเป็นสัตว์ที่มีแผงคอ” น้องปั้น “ม้าเป็นสัตว์ที่มีขา 4 ขาและก็มีหางยาว” และสืบค้นเพิ่มเติมในประเด็นที่สงสัย เช่น ม้ามีหางไว้ทำอะไร ทำไมมีแผงคอ ทำไมม้าวิ่งเร็ว เป็นต้น ซึ่งทุกคนได้นำเสนอคำตอบร่วมกัน เช่น น้องสิริน “หางมีไว้ไล่แมลงวันหรือยุง” น้องเก้า “ผมแผงของม้ามีตรงคอมันหนาและแข็งเป็นม้าตระกูลไม่ดี” เป็นต้น และเด็กได้ฝึกการสังเกตและเปรียบเทียบความเหมือน-ความต่างของม้ากับลา
ด้วย Venn Diagram และนำเสนอการเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ เช่น น้องอะคิ “ม้ามีหางเป็นพู่ตรงโคน ส่วนลามีหางเป็นพู่ส่วนปลาย” น้องทีม “ตาของลาใหญ่กว่าตาของม้า” เป็นต้น และได้สืบค้นไปถึงประโยชน์และโทษของม้า สรุปเป็นความรู้ร่วมกัน เช่น น้องฮารุ “ม้าใช้ลากเกวียนได้ ขี่เป็นพาหนะแทนรถได้ ใช้แข่งกีฬาได้ สมัยก่อนพระอยู่บนภูเขาก็ขี่ม้าลงมาบิณฑบาตกับชาวบ้าน เพราะระยะทางมันไกลต้องขี่ม้ามา เอาเลือดมาทำเป็นเซรุ่มรักษาพิษงูและพิษสุนัขบ้าได้” น้องมี “ถ้าเราขี่แล้วมันเป็นม้าพยศ มันจะทำให้เราบาดเจ็บได้” เป็นต้น
ครูไก่ วิวรรณ สารกิจปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับม้า คุณปอนด์ นวพร วงศ์ญาติ เจ้าของเพจและช่องยูทูบคาวบอยไทยใครก็ได้ และคุณโจ อาชาไนย ธรรมนิยาย ผู้จัดการฟาร์มม้า O.K. Corral Khao yai จบจากวิทยาลัยม้า Canyonview Equestrian College ประเทศสหรัฐอเมริกา มาให้ความรู้และตอบคำถามของเด็ก ๆ ช่วยให้เด็กได้รู้ว่าม้ามี 3 ประเภท และแต่ละประเภทมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นคำตอบของน้องปัญญ์
“ม้าแบ่งเป็น 3 ประเภท มีม้าเลือดเย็น ม้าเลือดร้อน และม้าเลือดอุ่น ม้าเลือดอุ่นเกิดจากเลือดเย็นผสมกับม้าเลือดร้อน ม้าเลือดเย็นตัวใหญ่ ขนของ ลากของได้ ขี่ได้ ม้าเลือดร้อนตัวเล็ก วิ่งเร็ว อยู่ในที่ร้อนๆ ได้” และสายพันธุ์ของม้าที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์เบลเยี่ยม พันธุ์ไคลเดสเดล พันธุ์อเมริกันแซดเดิล เป็นต้น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์การขี่ม้า วิธีการขี่ม้า และทดลองฝึกขี่จากอุปกรณ์สมมติ และรู้จักอาหารของม้า อีกทั้งจัดให้มีการเรียนรู้นอกสถานที่ที่กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ทำให้เด็กได้สัมผัสกับม้าตัวจริง เห็นขนาด รูปร่าง ลักษณะ สี และการเคลื่อนไหวของม้าที่ชัดเจน และได้รับประสบการณ์ใหม่ในการเลี้ยงดูแลม้า ทั้งการให้อาหาร การอาบน้ำ แปรงขน การรักษาเมื่อเจ็บป่วย การควบคุมม้า และได้ทดลองขี่ม้าโดยมีพี่ทหารดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด สร้างความประทับใจให้กับเด็กเป็นอย่างมาก เช่น การบอกเล่าของน้องนาญ่า
“หนูเห็นม้าเต็มเลย มีม้าสีขาว สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม หนูได้ขี่ม้าสีน้ำตาลเข้ม ได้จับขนม้ามันนิ่ม ม้าตัวใหญ่พี่ทหารอุ้มหนูขึ้นไปนั่ง บนอานมีผ้าสีดำปูรองอานม้า หนูเอาหญ้าให้ม้ากิน” น้องสกาย “สกายเห็นม้าหลายสี มีสีดำ สีน้ำตาล สีขาว เห็นคนขี่ม้าวิ่งไปมาหลายตัว ใส่หมวกสีดำ สกายไม่ได้ขี่ม้าสกายกลัวมันสูง เห็นมากินหญ้า ม้ากินเร็วมาก มีแปรงเอาไว้แปรงขน ทำความสะอาดม้า” เป็นต้น
ในสัปดาห์ที่ 6 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของกระบวนการเรียนรู้ เป็นระยะของการสรุป เด็กทุกคนได้ร่วมกันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับม้าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทุกประเด็นที่สงสัยอยากรู้อย่างชัดเจน และโดยช่วยกันออกแบบการนำเสนอนิทรรศการ เช่น ออกแบบบัตรเชิญผู้ปกครองร่วมงานแสดงนิทรรศการ จัดทำฟาร์มม้าจำลอง ทำเกือกม้าเป็นของที่ระลึกให้ผู้เยี่ยมชม แต่งและร้องเพลงเกี่ยวกับม้าเพื่อแสดงในวันงาน เป็นต้น
ตลอดระยะเวลากิจกรรมการ เรียนรู้แบบ Project Approach ครูใช้ STEAM Education ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้กับเด็ก ได้แก่ กิจกรรมวิทยาศาสตร์ เช่น การฝึกตั้งสมมติฐาน การตั้งคำถาม การสังเกต การทดลอง เป็นต้น กิจกรรมเทคโนโลยี เช่น การฝึกใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นข้อมูล ฝึกการเลือกใช้เครื่องมือ เป็นต้น กิจกรรมวิศวกรรมศาสตร์ เช่น การออกแบบและประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ การใช้โปรแกรม Bee-Bot ในการคิดวางแผน ออกแบบเส้นทาง และโปรแกรมคำสั่งให้เดินทางตามแผนไปยังจุดหมาย เป็นต้น
กิจกรรมศิลปศาสตร์ เช่น การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดนตรี และภาษา เป็นต้น และกิจกรรมคณิตศาสตร์ เช่น การฝึกชั่ง ตวง วัด นับจำนวน เปรียบเทียบ เป็นต้น ซึ่งช่วยพัฒนาเด็กให้เกิดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักตั้งคำถามในสิ่งที่สนใจ รู้จักการตั้งสมมติฐาน คิดหาคำตอบและลงมือทำด้วยวิธีที่หลากหลาย สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นได้ สรุปความคิดรวบยอดได้ และถ่ายทอดประสบการณ์ได้หลากหลายรูปแบบ
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110 ob_start(); ?>
โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3 ob_start(); ?>เยี่ยมชมเว็บไซต์
เว็บไซต์