อุโมงค์ปลา


งานนิทรรศการProject Approach ของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ เป็นงานแสดงผลงานของเด็ก ๆ ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีจะมีผู้ปกครอง คุณครูจากสถานศึกษาต่าง ๆ และผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก ซึ่งปีนี้ห้องนิทรรศการ “ปลา” ของเด็ก ๆ ชั้นอนุบาล 2/2 ดูสะดุดตาจาก “อุโมงค์ปลา” ขนาดใหญ่ที่เด็กและผู้ใหญ่สามารถเดินเข้าไปชมได้ แต่การที่เด็กตัวน้อย ๆ จะสามารถคิดออกแบบและประดิษฐ์สิ่งนี้ได้ ต้องเกิดจากความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปลาอย่างลุ่มลึก จึงจะสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของผลงานได้เป็นอย่างดี มาดูกันว่าเด็ก ๆ เรียนรู้กันอย่างไรถึงรู้จักปลาได้อย่างลึกซึ้ง

Project Approach เรื่อง ปลา
Project Approach เรื่อง ปลา

การเรียนรู้แบบ Project Approach เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เฉพาะเจาะจงตามความสนใจของเด็กที่ช่วยกันเลือกตามแนวทางประชาธิปไตย ได้ตั้งประเด็นคำถามที่เป็นข้อสงสัยเกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง และได้คิดวิธีการสืบค้นและลงมือหาคำตอบด้วยตนเอง โดยคุณครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยแนะนำเด็ก ทำให้เด็กได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ เด็ก ๆ ได้ช่วยกันเสนอหัวข้อเรื่องหลากหลาย สรุปได้ 5 เรื่อง ได้แก่ ปลา สายรุ้ง ทะเล กบ กระต่าย เมื่อลงคะแนนเลือกแล้วได้ช่วยกันสรุปผลจากกราฟ เรื่อง “ปลา” ได้คะแนนมากที่สุด 11 คะแนน จึงตกลงร่วมกันว่าจะเรียนรู้เรื่องปลา

หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับปลาเป็นผลงานหลากหลายรูปแบบ เช่น วาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน การประดิษฐ์ด้วยเศษวัสดุ เป็นต้น และได้บอกเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง เช่น “ปลามีก้าง ก้างอยู่ในตัวปลา ก้างปลาแข็ง กินก้างปลาไม่ได้จะติดคอ” “หนูเคยเห็นปลาที่เอ็มโพเรียม” “ที่บ้านเลี้ยงปลาตัวเล็ก เลี้ยงในโหล ปลามีสีสวย” เป็นต้น เมื่อเด็ก ๆ ได้พูดคุยกันและช่วยกันเสนอสิ่งที่สงสัยเกี่ยวกับปลา โดยคุณครูช่วยสรุปเป็นกลุ่มคำถามได้ 7 คำถาม ได้แก่ ปลาคืออะไร ปลามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ปลาเจริญเติบโตอย่างไร ปลามีแบบใดบ้าง ปลาอาศัยอยู่ที่ไหน ปลาเอาไปทำอะไรได้บ้าง ปลามันกัดไหม และได้ช่วยกันเสนอวิธีค้นหาคำตอบ เช่น “google หนังสือ ถามคนที่รู้เรื่องปลา เอาปลามาลองเลี้ยง เอาปลามาหั่นดูข้างในของปลา” เป็นต้น นี่เป็นเพียงการเรียนรู้ระยะเริ่มต้น ใช้เวลา 1 สัปดาห์ เตรียมความพร้อมให้เด็กได้สืบค้นหาคำตอบต่อไป

Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา
Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา

เข้าสู่ระยะที่ 2 เป็นช่วงเวลาของการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ ใช้เวลา 5 สัปดาห์ ในการค้นหาคำตอบด้วยวิธีที่หลากหลาย เริ่มจากเด็ก ๆ ร่วมกันคิดคาดคะเนคำตอบกันก่อนว่า “ปลาคืออะไร” แล้วจึงช่วยกันค้นหาความหมายของปลาจากหนังสือ เช่น หนังสือพจนานุกรม หนังสือเกี่ยวกับปลา เป็นต้น และช่วยกันพิมพ์ค้นหาใน Google โดยคุณครูช่วยอ่านให้เด็ก ๆ ฟัง และให้เด็กถ่ายทอดความเข้าใจของแต่ละคนเป็นภาพวาด แล้วนำมาเล่าให้คุณครูและเพื่อน ๆ ฟัง และยังมีประเด็นสงสัยเพิ่มเติมอีกว่า “อะไรเอ่ยที่เรียกปลาแต่ไม่ใช่ปลา” เด็ก ๆ ได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น เช่น “ปลาดาว ปลาหมึก ไม่ใช่ปลาเพราะมันไม่มีกระดูกสันหลัง ม้าน้ำเป็นปลา” เป็นต้น

เด็ก ๆ ได้เสนอคุณครู ให้มีตู้ปลาและเลี้ยงปลาในห้องเรียนเพื่อสังเกตธรรมชาติของปลา ทั้งรูปร่าง ลักษณะ การเคลื่อนที่ การกินอาหาร โดยเด็ก ๆ ช่วยกันสืบค้นในอินเทอร์เน็ต หาวิธีการเลี้ยงปลาในตู้ที่ถูกต้อง วิธีการเปลี่ยนน้ำในตู้ปลา ลักษณะของปลาหางนกยูง ปลาคาร์ฟ ปลาม้าลายเรืองแสง และปลานีออนที่เลี้ยงไว้ และดูแลให้อาหาร ลงมือทำความสะอาด เปลี่ยนน้ำตู้ปลาด้วยตัวเองอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้เด็ก ๆ ได้สังเกตปลาหลายชนิดร่วมกับปลาจำลองและบัตรภาพ สามารถบอกเล่าลักษณะของปลาแต่ละชนิดได้ เช่น “ปลาคาร์ฟตัวยาว มีหางยาว มีเกล็ดสีแดง มีครีบรูปทรงเหมือนสามเหลี่ยม” “ปลานีออนตัวมันเล็กกว่าปลาหางนกยูง ตัวเท่า ๆ กับปลาม้าลายเรืองแสง” เป็นต้น

Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา
Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา

และได้ค้นหาเพิ่มเติม เพื่อให้คลายสงสัยเรื่อง “ปลามีส่วนประกอบอะไรบ้าง” จนสรุปคำตอบร่วมกันได้ว่า ปลามี 3 ส่วน คือ หัว ลำตัว และหาง มีครีบอยู่ด้านข้างลำตัว มีอวัยวะที่อยู่ข้างนอกและข้างใน เพื่อให้เห็นอวัยวะภายในของปลาจริง ๆ คุณครูได้นำปลานิลและปลาดุกมาผ่าให้เด็ก ๆ ได้สำรวจและสังเกตอวัยวะภายในและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากภาพและหนังสือ ซึ่งเด็ก ๆ นำสิ่งที่สังเกตเห็นมาวาดภาพและบอกเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้ เช่น “ปลานิลมีเกล็ดเป็นสีขาว ๆ มีตับปลาอยู่ข้างใน สีออกแดง ๆ มีไส้ปลายาว ๆ ปลาดุกไม่มีเกล็ด” เป็นต้น และช่วยกันทำเป็น Venn Diagram ที่สวยงาม และคุณครูยังได้จัดหาปลาทูและปลาโอซึ่งเป็นปลาทะเล มาให้เด็ก ๆ สำรวจเพิ่มเติม และบอกความเหมือนและแตกต่างได้เช่นกัน หลังจากสำรวจปลาแต่ละชนิดเสร็จแล้ว เด็ก ๆ ได้แสดงฝีมือเปลี่ยนปลาทั้งหลายให้กลายเป็นอาหารกลางวัน เช่น ปลานิลชุบแป้งทอด ปลาดุกฟู ข้าวคลุกปลาทู เป็นต้น โดยคุณครูคอยดูแลช่วยเหลือให้เด็กปลอดภัยในการทำอาหาร

เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า “ปลามีส่วนประกอบอะไร / ปลามีซี่โครงหรือเปล่า / ปลาว่ายน้ำได้อย่างไร” เด็ก ๆ จึงหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของปลาเปรียบเทียบกับของคน แล้วจึงช่วยกันสรุปข้อมูล เช่น “คนก็มีจมูกไว้ดมกลิ่นแล้วเอาไว้หายใจ ปลามีเหงือกเอาไว้หายใจ ปลาหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปแล้วเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเหมือนคน” เป็นต้น เด็ก ๆ สืบค้นต่อเพื่อหาคำตอบในเรื่อง “ปลาเจริญเติบโตอย่างไร / ปลากินอะไรเป็นอาหาร” โดยมีการตั้งสมมติฐานไว้ก่อน และเมื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม สรุปร่วมกันได้ว่า “ปลาเจริญเติบโตได้ต้องกินอาหาร กินทั้งพืชและเนื้อ ปลาส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ แล้วค่อย ๆ กลายเป็นปลาผู้ใหญ่” เป็นต้น และมีการสืบค้นหาคำตอบว่า “ปลามีแบบใดบ้าง” ช่วยกันสรุปได้ว่า “แบ่งปลาตามที่อยู่อาศัยของปลา มีปลาน้ำเค็มกับปลาน้ำจืด” แล้วก็มาถึงวันที่เด็ก ๆ รอคอย วันที่ได้ไปทัศนศึกษาที่ “Sea Life Bangkok Ocean World” สยามพารากอน ซึ่งเด็ก ๆ ได้เรียนรู้และสอบถามในสิ่งที่สงสัยกับวิทยากร ได้สำรวจและสังเกตสิ่งต่าง ๆ เก็บเป็นความทรงจำและประสบการณ์แล้วนำมาเล่าให้เพื่อน ๆ และคุณครูฟังอย่างสนุกสนาน เช่น “ที่ Sea Life ทำที่อยู่อาศัยของปลาให้เหมือนในทะเล มีน้ำทะเล มีต้นไม้ มีสาหร่าย มีปะการัง ปลาฉลามกับปลากระเบนอยู่ในอุโมงค์ปลา” เป็นต้น

Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา
Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา

แล้วจึงสรุปร่วมกันได้ว่า “ปลาอาศัยอยู่ที่ไหน” ในประเด็นสงสัยเรื่อง “ปลาเอาไปทำอะไรได้บ้าง / ประโยชน์ของปลา” มีการสืบค้นข้อมูลจนได้คำตอบ เช่น “ปลาทำอาหารได้ มีโปรตีน ปลาเอาไปเลี้ยงได้” เป็นต้น มาถึงเรื่องสุดท้ายที่สงสัยว่า “ปลามันกัดไหม” เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันพร้อมทั้งค้นหาโทษของปลา เช่น “ปลามันไม่กัดกินคน ปลาปักเป้าเป็นปลาที่มีพิษกินไม่ได้” เป็นต้น ทุกครั้งหลังจากได้คำตอบของแต่ละประเด็นสงสัยแล้ว เด็ก ๆ จะได้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม แล้วนำผลงานมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ

การเรียนรู้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 ซึ่งเป็นระยะสรุป เด็ก ๆ ช่วยกันบอกเล่าทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ครบทุกประเด็นคำถาม และวาดภาพสรุปเรื่อง “ปลา” อีกทั้งยังได้ช่วยคุณครูออกแบบ จัดทำและตกแต่งนิทรรศการให้มีจุดสนใจ คือ อุโมงค์ปลาขนาดใหญ่ ที่มีรายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น การทำให้อุโมงค์ใสเพื่อให้เห็นปลาด้านนอกได้ พื้นทางเดินมีปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด มีจุดถ่ายภาพคู่กับปลาการ์ตูนตัวใหญ่ได้ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำทะเลจำลอง และตกแต่งห้องนิทรรศการด้วยผลงานที่เด็ก ๆ ได้สร้างสรรค์ไว้หลากหลายรูปแบบ หากท่านมีโอกาสได้เยี่ยมชมนิทรรศการ ต้องไม่พลาดที่จะเข้าไปเดินชมใน “อุโมงค์ปลา”

Project Approach เรื่อง ปลา Project Approach เรื่อง ปลา

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services