“เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”


เด็กน้อยจากชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ เป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แม้จะได้เรียนรู้จากหลักสูตรปกติของโรงเรียนแล้ว แต่เด็ก ๆ ก็มีอีกหลายอย่างที่ยังสงสัยและอยากหาคำตอบ โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ จึงได้จัดกิจกรรม Project Approach ให้เด็กได้เลือกเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสิ่งที่สนใจ เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ เด็ก ๆ ได้ช่วยกันนำเสนอหัวข้อเรื่องหลากหลาย แต่เรื่องที่มีเด็กสนใจมากที่สุดถึง 9 คน ได้แก่ เรื่อง “โดนัท” ซึ่งเด็กจะได้สืบค้นเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยด้วยตนเองเป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยเริ่มจากสัปดาห์แรก ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้น เด็กได้เลือกหัวข้อเรื่องร่วมกันแล้ว ได้ถ่ายทอดประสบการณ์เดิมของแต่ละคนออกมาหลากหลายวิธี เช่น การวาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน การบอกเล่า เช่น

Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”
Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”

น้องนนท์ “นนท์กับคุณแม่เคยไปซื้อโดนัทมากิน โดนัทมันอร่อยมันกลมๆ บางอันมีไส้ บางอันไม่มีไส้ บางอันมีช็อกโกแลตอยู่ข้างบน” น้องกิมมิค “หนูเคยไปซื้อโดนัทกับคุณพ่อ หนูเจอโดนัทขายเยอะมาก โดนัทมันหวาน ๆ มีหลายสี มันกลม ๆ มีรูอยู่ตรงกลาง โดนัทพอกินมันนิ่ม ๆ ไม่แข็ง” สรุปเป็น Web ได้ 6 เรื่อง ได้แก่ โดนัทคืออะไร ชนิดของโดนัท วิธีการผลิต สถานที่ที่สามารถพบเห็นโดนัท ใครกินโดนัทบ้าง ประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทานโดนัท บรรจุภัณฑ์ที่ใส่โดนัท ซึ่งแต่ละคนก็ช่วยกันเสนอวิธีค้นหาคำตอบ เช่น น้องนิฌาช์ “จะให้คุณแม่หาเรื่องโดนัทในหนังสือให้ค่ะ” น้องไนน์ “จะให้คุณแม่พาไนน์ไปถามคนทำโดนัทว่าทำอย่างไร” และยังได้ร่วมออกแบบกิจกรรม เช่น น้องเลอา “เลอาอยากให้คุณครูพาไปดูที่เขาทำโดนัท หนูจะได้ทำโดนัทได้” น้องเกรซ “เกรซชอบต่อจิกซอร์ เกรซอยากทำจิกซอร์ภาพโดนัท”

ในระยะที่ 2 ของการเรียนรู้ ก่อนจะเริ่มหาความหมายของโดนัท ครูให้เด็กทุกคนแสดงความคิดเห็นว่าโดนัทคืออะไร ซึ่งเด็ก ๆ บอกได้คล้าย ๆ กันว่า โดนัทคือขนมที่ทำจากแป้ง มีไส้ และมีรูตรงกลาง ซึ่งเมื่อค้นหาข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ความหมายใกล้เคียงกับของเด็ก ๆ คือ ขนมแป้งทอดหรืออบ ที่มีเนื้อคล้ายกับขนมเค้ก มีลักษณะกลม มีรูตรงกลางคล้ายกับห่วงยาง มีหลายรสชาติ ซึ่งเมื่อเด็ก ๆ เริ่มสำรวจโดนัทแบบต่าง ๆ ที่ครูจัดหามาให้ เด็กสามารถบอกเล่าประสบการณ์ได้ เช่น น้องเพิร์ล “มีโดนัทหลายแบบ มีโดนัทที่มีถั่วอยู่ข้างบน บางอันก็เป็นมะพร้าว บางอันก็มีไส้สตรอว์เบอร์รีอยู่ข้างใน โดนัทมันมีรูปร่างไม่เหมือนกัน บางอันมันกลม ๆ มีบางอันมันยาว บางอันเป็นสามเหลี่ยม บางอันเป็นวงกลมมีรูตรงกลาง หนูชิมแล้วมันอร่อย มันหวานแล้วมีกลิ่นหอม ๆ”

Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”
Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”

และจากการสืบค้นเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโดนัททำให้เด็ก ๆ ช่วยกันสรุปได้รู้ว่า “โดนัทมีมานานกว่า 400 ปี เป็นขนมแป้งทอดรสหวาน ทำจากแป้งสาลี เป็นขนมของคนพื้นเมืองชาวเนเธอร์แลนด์ ตอนแรกไม่มีรู แต่ชาวอเมริกันนำไปทอดกินแล้วอมน้ำมัน เลยเจาะรูตรงกลาง ขนมจะได้ขยายตัวเวลาทอดจะได้ไม่อมน้ำมัน และสุกง่าย”และเมื่อค้นหาจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และเปรียบเทียบจากโดนัทของจริง

เด็ก ๆ ได้คำตอบของประเภทโดนัท ตามคำบอกของน้องแอสเปอร์ “โดนัทแบ่งออกเป็น 2 ชนิด” น้องแตม “มีโดนัทยีสต์กับโดนัทเค้ก” และยังสามารถบอกวัตถุดิบในการทำโดนัทได้ เช่น น้องกระติ๊บ “โดนัทยีสต์ทำมาจากแป้งสาลี” น้องแกล “โดนัทเค้กมันทำด้วยแป้งเค้ก” และเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ ที่อยากลองทำโดนัทด้วยตัวเอง ครูจึงให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดวิธีทำและหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และยูทูบ เมื่อได้วิธีทำมาทั้งหมดแล้วเด็กจึงได้ลงมือทำด้วยตนเองทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบ ฝึกการชั่งตวง จนถึงการผสมและตีแป้ง และนำลงทอดในกระทะ ซึ่งครูคอยดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด และได้ทดลองใช้เครื่องทำโดนัทอัตโนมัติ ซึ่งในการทำครั้งแรกแม้ว่าโดนัทจะไม่ขึ้นฟูเท่าที่ควร แต่เด็ก ๆ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อย และยังได้ช่วยกันวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงสูตร เช่น น้องหมิงหลิง “มันใส่น้ำตาลน้อยไปหน่อย” น้องคะนน “เราอาจจะใส่แป้งเยอะไปหน่อย”

Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”
Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”

ต่อมาเด็กได้ลองทำโดนัทอีกครั้ง โดยมีคุณนันท์นภัส เรืองรัตนอัมพร ผู้ปกครองน้องเบน และคุณชุติมา ตรีเพิ่มทรัพย์ ผู้ปกครองน้องอลิส ที่มีความเชี่ยวชาญการทำเบเกอรีมาเป็นวิทยากรสอนทำโดนัทเคลือบช็อกโกแลต และตกแต่งหน้าด้วยท็อปปิ้งแต่งหน้าขนม ซึ่งเด็ก ๆ ได้ลงมือทำกันอย่างสนุกสนาน

และคุณศศิธร ช้างลอย ผู้ปกครองน้องกระติ๊บ ซึ่งมีกิจการร้านขายโดนัทได้เข้ามาให้ความรู้และตอบคำถามมากมายของเด็ก ๆ พร้อมทั้งนำสื่อของจริงมาให้เด็กได้เรียนรู้ และเมื่อถึงคำถามว่าใครกินโดนัทบ้าง ก็ได้คำตอบหลากหลายและน่าสนใจ เช่น น้องนนท์ “ นอกจากคนแล้วสัตว์ก็ชอบกินโดนัท” น้องตฤน “มดกินโดนัท” น้องคะนน “หนูก็กินโดนัท”

Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”
Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”

และเด็กได้เรียนรู้การทำ Venn Diagram เปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างของโดนัทและขนมปัง โดยใช้วิธีการสืบค้นจากหนังสือและอินเทอร์เน็ต

เด็กก็สามารถเปรียบเทียบได้ เช่น น้องเกรซ “โดนัทมีรูตรงกลาง” น้องนิฌาช์ “ขนมปังไม่มีรูตรงกลาง” น้องไนน์ “โดนัททำมาจากแป้งสาลี” น้องตฤน “ขนมปังทำมาจากแป้งสาลีเหมือนกัน”

Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”
Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”

และวัตถุดิบที่สำคัญ อีกหนึ่งอย่างที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ คือ ยีสต์ ซึ่งหลังจากได้สืบค้นข้อมูลแล้ว เด็กช่วยกันบอกรายละเอียดเกี่ยวกับยีสต์ได้อย่างชัดเจน เช่น น้องแอรีส “ยีสต์มีสีน้ำตาล” น้องลัลลัล “เวลาจับยีสต์มันลื่น ๆ นิดหนึ่ง” น้องคูเปอร์ “จับมันเป็นเม็ดเล็ก ๆ” น้องพอล “ยีสต์คือจุลินทรีย์” เมื่อได้เรียนรู้และลงมือทำโดนัทแล้ว สิ่งที่เด็ก ๆ ช่วยกันค้นหาต่อไปคือมีโดนัทที่ไหนบ้าง และโดนัทใส่ไว้ในอะไรบ้าง ต่างก็ได้คำตอบที่หลากหลาย เช่น น้องแมท “ที่เมกาบางนาก็มีร้านขายโดนัท” น้องไนน์ “โดนัทอยู่ที่โรงงานทำโดนัท” น้องเลอา “มีแบบถุง มีแบบกล่อง” น้องเบน “ใส่กล่องเพราะกลัวโดนัทจะเละ” เป็นต้น การค้นหาคำตอบมาถึงประเด็นสุดท้ายที่เด็ก ๆ อยากรู้ คือ ประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทาน ซึ่งเด็ก ๆ ก็สามารถสรุปข้อมูลร่วมกันได้ดี เช่น น้องนนท์ “โดนัทมีทั้งประโยชน์และโทษ” น้องแอสเปอร์ “มันมีคาร์โบไฮเดรต เพราะมันเป็นแป้งสาลี” น้องเลโก้ “กินมากทำให้อ้วนได้” น้องคูเปอร์ “ถ้าคนแก่กินมากจะเป็นเบาหวานได้”

ตลอดระยะเวลาการเรียนรู้ ตลอด 6 สัปดาห์ เด็กได้เรียนรู้แบบ STEAM เช่น การทดลองตั้งโดนัททิ้งไว้ในสถานที่ที่แตกต่างกัน การทดลองผสมแป้งโดว์ เพื่อพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ การใช้ Sensory Play การใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี การฝึกคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ การเลือกใช้วัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมศาสตร์ การวาดภาพตามจินตนาการ การแต่งนิทาน การเรียนรู้ภาษา เพื่อเสริมทักษะด้านศิลปะศาสตร์ และการสังเกตรูปร่าง รูปทรง การนับจำนวน ตัวเลขไทยและอารบิก เพื่อพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์ ช่วยให้เด็กได้พัฒนาอย่างรอบด้านตามศักยภาพของแต่ละคน โดยมีผู้ปกครองช่วยสนับสนุนสื่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เช่น ผู้ปกครองของน้องแตม น้องกิมมิค น้องเลโก้ น้องเพิร์ล น้องแกล น้องเกรซ เป็นต้น

Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”
Project Approach เรื่องโดนัท “เด็กน้อยกับปริศนาโดนัท”

สัปดาห์ที่ 6 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการเรียนรู้ Project Approach ครูและเด็กช่วยกันสรุปความรู้ร่วมกัน ซึ่งสามารถค้นหาคำตอบได้อย่างชัดเจนในทุกประเด็นที่สงสัยและตั้งคำถามไว้ และช่วยกันเสนอรูปแบบการจัดนิทรรศการ และลงมือจัดทำการ์ดเชิญ โดนัทจำลอง จัดตกแต่งมุมแสดงผลงานต่าง ๆ ให้เห็นกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน พร้อมที่จะนำเสนอให้ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจได้ชื่นชมทักษะการเรียนรู้ของเด็กน้อยที่ช่วยกันไขปริศนาโดนัท และร่วมภาคภูมิใจในผลงานของบุตรหลานของท่าน

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services