ทุกท่านคงทราบดี ถึงประโยชน์ของมะพร้าว ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในทุกส่วน แต่สิ่งที่ทุกท่านอาจไม่ทราบคือ มะพร้าวสามารถใช้พัฒนาสมองได้ แต่จะมีวิธีการใช้อย่างไร หรือพัฒนาสมองอย่างไร คงต้องติดตามอ่านให้จบ แล้วท่านจะพบกับคำตอบ
การเรียนรู้อย่างลุ่มลึกในสิ่งที่สนใจ เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach ของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ โดยการบริหารของครูไก่ วิวรรณ สารกิจปรีชา ที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม มุ่งหวังให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการเด็กตามวัย และเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน จึงเน้นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจและลงมือทำด้วยตนเอง และเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์
ศิลปะศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEAM) เพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม
เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1/3 ได้เริ่มต้นกิจกรรม Project Approach ในระยะที่ 1 โดยการช่วยกันเสนอและเลือกหัวข้อเรื่องที่สนใจ ซึ่งในปีนี้มีหัวข้อเรื่องที่เสนอมาทั้งหมด 8 เรื่อง ได้แก่ หุ่นยนต์ ไดโนเสาร์ มันฝรั่ง กล้วย ส้ม ข้าวโพด กระต่าย และมะพร้าว ซึ่งแต่ละคนต่างมีเหตุผลในการเลือก เช่น น้องเทมส์ “เทมส์ชอบกล้วยเพราะว่ารู้จักกล้วยไข่” น้องอัญญ่า “อัญญ่าชอบมะพร้าว อัญญ่าจะทำขนม” ซึ่งเรื่องที่มีเด็กสนใจมากที่สุด คือ “มะพร้าว” จึงตกลงกันตามแนวทางประชาธิปไตยเลือกเรื่องนี้เพื่อเรียนรู้ในปีนี้ ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียนรู้ 6 สัปดาห์ เพื่อหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยเกี่ยวกับมะพร้าวให้ครบทุกประเด็น
การถ่ายทอดประสบการณ์เดิม ของเด็ก ๆ เกี่ยวกับมะพร้าว เป็นกิจกรรมแรก ๆ ที่เด็กได้ทำ ทั้งการวาดภาพระบายสีตามจินตนาการ การประดิษฐ์จากเศษวัสดุ และการบอกเล่า และได้ช่วยกันตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัย สรุปเป็น Web ได้ 6 ประเด็น ได้แก่ มะพร้าวคืออะไร มีมะพร้าวอะไรบ้าง มะพร้าวมาจากไหน มะพร้าวเอาไปทำอะไรได้บ้าง ใครกินมะพร้าวบ้าง มะพร้าวมีประโยชน์หรือโทษอย่างไร โดยเด็ก ๆ ได้เสนอวิธีการที่จะใช้ในการสืบค้นเพื่อหาคำตอบ เช่น น้องแพรไหม “แพรไหมจะไปถามคุณพ่อเรื่องมะพร้าว” น้องกุนต์ “ไปดูหนังสือมะพร้าว” เป็นต้น
ในระยะที่ 2 ของกิจกรรม เป็นการสืบค้นข้อมูลของเด็ก ๆ เพื่อหาความหมายของมะพร้าว ซึ่งได้ลงมือหาคำตอบด้วยตนเอง โดยมีวิธีการที่หลากหลาย เช่น เปิดพจนานุกรม ค้นหาใน Google และครูช่วยอ่านให้เด็กฟัง การสอบถามจากผู้ปกครอง เป็นต้น และหลังจากนั้นจึงช่วยกันสรุปได้ว่า “มะพร้าว น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cocos nucifera L. ในวงศ์ Palmae ต้นสูงชะลูด ไม่แตกกิ่งก้าน ผลกลมหรือรีแกมรูปสามเหลี่ยม ผลออกเป็นช่อขนาดใหญ่เรียกว่า ทะลาย น้ำคั้นจากเนื้อมะพร้าวห้าวเรียกว่า กะทิ ใช้ปรุงอาหารและทำน้ำมัน” สอดคล้องกับคำบอกเล่าของเด็ก ๆ เช่น น้องฮาน่า “มะพร้าวมันเหมือนต้นปาล์มมันเป็นพวกเดียวกัน” น้องเคนตะ “มะพร้าวมันเป็นผลไม้แล้วมันมีน้ำมะพร้าว”
และเพื่อให้เด็กได้รู้จักรูปทรงและลักษณะของมะพร้าวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ครูจึงนำผลมะพร้าวมาให้เด็กได้สำรวจและฝึกสังเกต ซึ่งเด็ก ๆ ช่วยกันสรุปได้ดี เช่น น้องพรีม “มะพร้าวลูกเป็นวงรี สีเขียวมีสีดำ มีก้านยาวมีสีน้ำตาล” น้องมิตตะ “เนื้อมะพร้าวมีสีขาว สีน้ำตาล เปลือกแข็งมาก ลูกกลม ๆ” และสามารถแยกประเภทของมะพร้าวได้ เช่น น้องอบอุ่น “มะพร้าวลูกสีเขียวมะพร้าวอ่อนหนักค่ะ เพราะมีน้ำมะพร้าวอยู่ข้างใน” น้องนดา “มะพร้าวลูกสีน้ำตาล ไม่หนักเป็นมะพร้าวแห้ง มะพร้าวอ่อนสีเขียวหนัก” เป็นต้น
และเพื่อให้เด็กได้รู้จักมะพร้าวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ครูได้จัดเตรียมมะพร้าวทึนทึก มะพร้าวห้าว มะพร้าวกะทิ ต้นมะพร้าวจริง และต้นมะพร้าวจำลองมาให้เด็กได้ฝึกทักษะการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้เด็กสามารถบอกลักษณะและรสชาติได้ เช่น น้องพิภู “พิภูปลูกมะพร้าวลูกใหญ่ ต้นมะพร้าวมีใบเล็ก ๆ สีเขียวแล้วและก็รดน้ำ” น้องมีดี “มีดีชอบน้ำมะพร้าวหวาน” และเด็ก ๆ ยังได้ชวนกันปลูกมะพร้าวอย่างเป็นขั้นตอน เช่น น้องมีอา “มีอาตักดินและเอาลูกมะพร้าวใส่ไป” น้องญาญ่า “ต้องใส่กระถางเล็กกับกระถางใหญ่ มะพร้าวลูกเล็กมีต้นเล็ก ๆ ออกมา” เป็นต้น
การเรียนรู้ของเด็ก ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองในการสนับสนุนสื่อหลากหลายชนิด เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก้ว ปลาปูที่สานจากใบมะพร้าว เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้ใช้เรียนรู้ร่วมกัน การพาบุตรหลานไปรับประสบการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับมะพร้าว และนำมาเล่าให้เพื่อนและครูได้รับฟัง เช่น การได้ไปเที่ยวสวนมะพร้าว การรับประทานมะพร้าว การได้ซื้อมะพร้าวตามสถานที่ต่าง ๆ การพบเห็นบุคคลที่ชอบรับประทานมะพร้าว เป็นต้น
และโรงเรียนได้จัดให้เด็กได้ไปศึกษาเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายนอก ได้แก่ “สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ” ซึ่งเด็ก ๆ มีการเตรียมตัวก่อนเดินทางและเตรียมประเด็นคำถามในสิ่งที่สงสัยเพื่อสอบถามจากวิทยากร เช่น น้องปุณณ์ “ปุณณ์มีคำถามนะว่า ต้นมะพร้าวปลูกอย่างไงได้บ้าง ปลูกที่ดินหรือปลูกที่ใกล้กับแม่น้ำ” น้องกันต์ “กันต์จะไปดูมะพร้าวลูกใหญ่ ไปดูต้นมะพร้าวที่สูงมาก” และเมื่อกลับมาจากการทัศนศึกษา เด็ก ๆ ได้ช่วยกันสรุปคำตอบของวิทยากร และสิ่งที่ได้พบเห็น เช่น น้องน้ำตาล “น้ำตาลเห็นมะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่ กาบมะพร้าวเราเอามาปลูกต้นไม้ได้ มีกะลาสีดำอยู่ที่มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อนกะลาจะเป็นสีขาว” น้องเทมส์ “มะพร้าวต้นสูงจะเป็นมะพร้าวแกง มะพร้าวอ่อนจะเป็นต้นไม่สูง” เป็นต้น
และในการจัดประสบการณ์และกิจกรรมให้กับเด็ก ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้ช่วยออกแบบการเรียนรู้ โดยช่วยกันนำเสนอกิจกรรมที่แต่ละคนอยากทำ มี 1 กิจกรรมที่เด็ก ๆ สนใจเป็นอย่างมาก คือ กิจกรรมประกอบอาหาร ซึ่งครูได้ตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ โดยให้เด็กช่วยกันนำ เสนอเมนูที่สนใจ ซึ่งมีหลากหลายเมนู แต่สรุปผลความคิดเห็นร่วมกันเลือกทำเมนูสาคูเปียกข้าวโพดมะพร้าวอ่อน ซึ่งเด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการทำทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบจนถึงการปรุงจนสำเร็จ และได้ชิมฝีมือของตัวเอง และเมนูทับทิมกรอบ ได้เห็นการขูดมะพร้าวด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น จากช้อน จากที่ขูดมะพร้าว เครื่องขูดมะพร้าว เป็นต้น
และได้ฝึกคั้นน้ำกะทิกันอย่างสนุกสนานและบอกเล่าให้เพื่อนฟังได้ เช่น น้องพาดา “พาดาทำน้ำกะทิ เราต้องเอาช้อนขูดที่เนื้อมะพร้าวแต่มันแข็งมาก” น้องบดี “ขูดมะพร้าวออกมา สีขาว” น้องนดา “นดาช่วยคั้นน้ำกะทิ น้ำสีขาวออกมาจากเนื้อมะพร้าวสีขาว ต้องบีบแรง ๆ ต้องใช้น้ำอุ่นด้วย” เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่เด็ก ๆ สงสัยและช่วยกันหาคำตอบ คือ ประโยชน์และโทษของมะพร้าว ซึ่งเด็ก ๆ ได้สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต ดูการ์ตูนแอนิเมชัน พูดคุยบอกเล่า นำสิ่งของและอาหารที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้อย่างหลากหลาย เช่น น้องปุณณ์ “มะพร้าวมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในมะพร้าวมีไขมันดีต่อร่างกาย มีน้ำมันมะพร้าวด้วย” น้องอัญญ่า “มะพร้าวทำอาหาร ทำขนมได้” น้องญาญ่า “ใบมะพร้าวเอามาทำของ ทำตะกร้า ทำหมวก ทำปลากับปู” น้องอบอุ่น “กะลามะพร้าวแข็ง ๆ จะเอามาทำของใช้ ทำที่ตักน้ำก็ได้ ทำจานก็ได้” น้องฮาน่า “ดื่มน้ำมะพร้าวเยอะ ๆ จะปวดฉี่” น้องมิตตะ “กินมะพร้าวเยอะเกินไปเราจะปวดท้อง” เป็นต้น
เมื่อถึงช่วงเวลาการเรียนรู้ ระยะที่ 3 เป็นการสรุป Project เด็ก ๆ ทบทวนคำถามและช่วยกันตอบได้ครบทุกประเด็นที่สงสัย และยังได้ช่วยกันออกแบบและจัดเตรียมนิทรรศการ ช่วยกันทำต้นมะพร้าวจำลอง ผลมะพร้าวจำลอง ทำบัตรเชิญผู้ปกครอง ทำของที่ระลึกเพื่อมอบในวันงาน พร้อมทั้งตกแต่งและจัดวางผลงานต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ชื่นชมผลงานและภาคภูมิใจในตัวบุตรหลาน ที่มีทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัยและเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน มาถึงตรงนี้ท่านคงได้คำตอบแล้วว่า “มะพร้าวช่วยพัฒนาสมอง” ได้อย่างไร และคำนี้จึงไม่ได้กล่าวเกินจริงเลย
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110 ob_start(); ?>
โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3 ob_start(); ?>เยี่ยมชมเว็บไซต์
เว็บไซต์