ลูกบอลเด้งดึ๋ง


การพัฒนาเด็กปฐมวัยเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ผ่านการเล่น ของเล่นและสื่อการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ “ลูกบอล” เป็นของเล่นลำดับต้น ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชายจะได้เล่นและคุ้นเคย ด้วยคุณลักษณะของลูกบอลที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก ๆ ได้ดี คือ ทรงกลม กลิ้งได้ เด้งได้ นำมาเล่นได้หลากหลายรูปแบบ เล่นคนเดียวก็ได้ เล่นกับเพื่อน ๆ ก็ดี จึงเป็นสิ่งที่เด็กห้องเตรียมอนุบาล โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่สนใจอยากเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Project Approach ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กอย่างลุ่มลึกในเรื่องที่สนใจและตกลงร่วมกัน จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเป็นองค์รวม โดยเด็ก ๆ ใช้เวลาในการเรียนรู้ 7 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพอย่างเหมาะสมตามวัย โดยครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กในทุก ๆ ด้าน มาดูกันว่าเด็ก ๆ จะได้อะไรจาก “ลูกบอล”

Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง
Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง

ในสัปดาห์แรก เป็นระยะเริ่มต้นของกิจกรรม ครูจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ช่วยกันหาหัวข้อเรื่อง เด็ก ๆ ได้ช่วยกันเสนอเรื่องที่แต่ละคนสนใจด้วยการบอกเล่าและวาดภาพ และให้เด็กแต่ละคนเลือกหัวข้อเรื่องด้วยการนำชื่อตนเองไปติดในช่องเรื่องที่สนใจ หลังจากนั้นจึงช่วยกันสรุปผล เรื่อง “ลูกบอล” เป็นเรื่องที่มีเด็ก ๆ ลงคะแนนเลือกมากที่สุดถึง 12 คะแนน มากกว่าเรื่องจักรยาน ลูกบาสเกตบอล ไก่ หมู สุนัข เรือ และรถกระบะ ซึ่งครูก็ได้นำมาเรื่องต่าง ๆ ที่คะแนนน้อยกว่ามาเชื่อมโยงเพิ่มเติมให้กับเด็ก ๆ ในกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ

ในระยะที่ 2 ของกิจกรรม Project Approach เป็นระยะที่เด็กต้องช่วยกันรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้ ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 5 สัปดาห์ โดยเริ่มจากการถ่ายทอดประสบการณ์เดิมของแต่ละคนเกี่ยวกับลูกบอลผ่านการบอกเล่า แม้จะมีเด็กน้อยบางคนยังสื่อสารผ่านการพูดได้ไม่ชัด หรือยังไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ครูจะคอยดูแลและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และเด็ก ๆ ยังสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เดิมในรูปแบบอื่น ๆ ได้ เช่น การวาด การปั้น การประดิษฐ์ เป็นต้น หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้ช่วยกันตั้งคำถามที่สงสัยและสนใจอยากรู้เกี่ยวกับลูกบอล สรุปร่วมกันได้ 5 ประเด็น ได้แก่ ลูกบอลคืออะไร ลูกบอลมาจากไหน ประเภทของลูกบอล ลักษณะของลูกบอล และประโยชน์ หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้ช่วยกันเสนอวิธีค้นหาคำตอบด้วย เช่น “ไปถามคุณพ่อเพราะคุณพ่อเป็นครูสอนพละ สืบค้นในหนังสือและคอมพิวเตอร์ สืบค้นที่สนามฟุตบอล” เป็นต้น

Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง
Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง

เมื่อได้วิธีการแล้วเด็ก ๆ ได้ตั้งสมมติฐานก่อนเริ่มค้นหาคำตอบแรกว่า “ลูกบอลคืออะไร” เช่น “ลูกบอลคือลูกกลม ๆ เด้งได้ เอาไว้เตะ เอาไว้เล่น” เป็นต้น เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถสืบค้นในหนังสือหรือคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตนเอง ครูจึงให้เด็ก ๆ ได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับพยัญชนะและช่วยกันสะกดคำเพื่อนำไปเปิดหาในพจนานุกรมและพิมพ์ค้นหาใน Google โดยครูช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเด็ก ๆ จนพบคำตอบและอ่านให้เด็ก ๆ ฟัง และสรุปความหมายสั้น ๆ ร่วมกันได้ เพื่อให้เด็กได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ครูได้จัดหาลูกบอลหลากหลายชนิดมาให้เด็กได้เรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น สังเกตดูลักษณะ รูปทรง สี ลวดลาย ขนาด การเคลื่อนที่ สำรวจด้วยการหยิบจับ สัมผัสพื้นผิว น้ำหนัก ความแข็ง และฝึกการเปรียบเทียบ เป็นต้น เมื่อเด็ก ๆ เกิดประสบการณ์แล้วจึงได้ถ่ายทอดเป็นผลงานลูกบอลหลากหลายรูปแบบ เช่น การปั้นจากวัสดุต่าง ๆ การวาดภาพระบายสี เป็นต้น หลังจากนั้นเด็ก ๆ ได้ช่วยกันสืบค้นประวัติของลูกบอลเพื่อตอบคำถาม “ลูกบอลมาจากไหน” โดยมีการคาดคะเนกันก่อนว่าลูกบอลผลิตขึ้นครั้งแรกที่ประเทศใด เช่น “ประเทศไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ” เป็นต้น

ซึ่งตรงกับคำตอบที่ได้จากการสืบค้น คือ สมาคมฟุตบอลอังกฤษที่มีการกำหนดรูปร่างและลักษณะของลูกฟุตบอลขึ้นครั้งแรก ในระหว่างการเรียนรู้เด็ก ๆ มีประเด็นสงสัยเพิ่มเติมจากประเด็นหลัก คือ “อยากรู้ว่าทำไมลูกบอลกระเด้งได้” จึงได้ทดลองโยนลูกบอลหนังและลูกบอลผ้าเปรียบเทียบกัน เด็ก ๆ ช่วยกันบอกสิ่งที่สังเกตได้ เช่น “ลูกบอลกระเด้งได้เพราะลูกบอลแข็ง เพราะมีลมข้างใน” เป็นต้น เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่อง “ประเภทของลูกบอล” ครูได้จัดหาลูกบอลหลากหลายชนิดมาให้เด็กได้สำรวจและทดลอง เช่น ลูกวอลเลย์บอล ลูกบาสเกตบอล ลูกเบสบอล ลูกรักบี้ ลูกเทนนิส เป็นต้น ทำให้เด็ก ๆ ได้รับประสบการณ์เพิ่มเติมและถ่ายทอดออกมาผ่านการบอกเล่าและสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ และเพื่อให้คลายสงสัยว่า “ทำไมลูกบอลถึงแข็ง และทำไมลูกบอลถึงนิ่ม”

Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง
Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง

เด็กได้สำรวจและทดลองสูบลมลูกบอลจนได้คำตอบว่า “ลูกบอลนิ่มเพราะไม่มีลม สูบลมเขาไปมันก็แข็งขึ้น” และทดลองทำลูกบอลเด้งดึ๋ง ซึ่งแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ บอลเด้งไม่ได้ แต่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุและคิดหาวิธีแก้ไขปรับปรุงได้ เช่น “มันไม่เหนียว มันเละ ไม่เป็นก้อน ปั้นไม่ได้เพราะใส่น้ำมากเกินไป ต้องทำใหม่” เป็นต้น เด็ก ๆ ยังสนุกกับการค้นหาคำตอบ อยากให้ครูลองผ่าลูกบอลเพื่อจะได้รู้ว่าข้างในมีอะไร และทำการทดลองอีกหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้ได้คำตอบเรื่อง “ลักษณะของลูกบอล” ก่อนทดลองผ่าลูกบอลครูให้เด็ก ๆ ได้ตั้งสมมติฐานกันก่อน เช่น “ข้างในลูกบอกต้องมีสารเคมี มีลม มีเม็ด” เป็นต้น ซึ่งหลังจากผ่าแล้วและได้ดูคลิปวีดิโอประกอบ ทำให้เด็ก ๆ สรุปร่วมกันได้ว่า “มีลูกบอลอีกลูกอยู่ข้างในเป็นสีดำที่ทำมาจากยางเรียกว่ายางใน” เด็ก ๆ ยังสงสัยอีกว่า “ทำไมลูกบอลถึงต้องกลม” จึงได้ช่วยกันสืบค้นจนได้คำตอบ เช่น “สี่เหลี่ยมกลิ้งไม่ได้เพราะมีมุม ๆ มันกลิ้งได้เพราะเป็นทรงกลม” เป็นต้น และยังได้ทดลองการจมและลอยของลูกบอล ซึ่งเด็ก ๆ ได้ตั้งสมมติฐานไว้ เช่น “ลูกรักบี้ไม่ลอยมันหนัก ลูกเบสบอลจมเพราะไม่มีลมอัดข้างใน” เป็นต้น

แต่หลังจากการทดลองเด็ก ๆ ได้เห็นว่าลูกบอลลอยทุกลูก จึงมีคำถามต่อไปว่า “ทำไมลูกบอลถึงลอยได้” เด็กจึงได้ทดลองเพิ่มเติมอีกจนได้คำตอบว่า “ลอยน้ำได้เพราะมีอากาศข้างใน” ซึ่งเด็ก ๆ ได้นำประสบการณ์ที่ได้ทดลองและเรียนรู้มาช่วยกันออกแบบและประดิษฐ์ลูกบอลและที่สูบลมจำลองจากวัสดุต่าง ๆ และในช่วงท้ายของการค้นหาคำตอบ เด็ก ๆ ได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากวิทยากรภายนอก คุณเชิดชัย สุวรรณนัง นักฟุตบอลทีมชาติไทย ได้เข้ามาพูดคุยและตอบคำถามของเด็ก ๆ เกี่ยวกับประเภทของลูกบอลและวัสดุที่นำมาใช้ทำลูกบอล และได้เชิญครูเกษมกับครูนุ๊ก ซึ่งเป็นครูสอนพละที่โรงเรียน มาพูดคุยแนะนำวิธีการเล่นลูกบอลชนิดต่าง ๆ ซึ่งเด็ก ๆ ได้ลองเล่นกันอย่างสนุกสนาน ในคำถามสุดท้ายที่เด็ก ๆ สงสัย คือ “ประโยชน์ของลูกบอล” เด็ก ๆ ช่วยกันสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตและคลิปวีดิโอ สรุปคำตอบร่วมกันได้ เช่น “เอาลูกบอลมาเล่นกับสัตว์ได้ เอาลูกบอกมาออกกำลังกาย เล่นกีฬาทำให้ร่างกายแข็งแรง” เป็นต้น

Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง
Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง Project Approach เรื่อง ลูกบอล ลูกบอลเด้งดึ๋ง

เด็กได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของกิจกรรม เป็นระยะสรุปผลการเรียนรู้ ซึ่งเด็ก ๆ ช่วยกันสรุปและถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยการบอกเล่าได้ทุกประเด็นคำถามที่เคยตั้งไว้ และสร้างสรรค์ผลงานภาพวาด งานปั้น งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุที่สวยงามและสร้างสรรค์ และช่วงสุดท้ายของกิจกรรม เด็ก ๆ และครูช่วยกันนำผลงานต่าง ๆ มาจัดวางและตกแต่งห้องเรียนให้เป็นห้องแสดงนิทรรศการ เรื่อง “ลูกบอล” ที่สวยงามและสามารถดึงดูดความสนใจให้ผู้ปกครองและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม แล้วท่านจะเห็นความก้าวหน้าของพัฒนาการด้านต่าง ๆ และภาคภูมิใจในความสามารถของบุตรหลาน เด็กน้อยจากชั้นเตรียมอนุบาล โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่

3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110

โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3
แฟกซ์: (0) 2 249-4001

ติดตามเราได้ที่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

เส้นทาง

แผนที่โรงเรียน : คลิกดูแผนที่

นโยบายความเป็นส่วนตัว

เยี่ยมชมเว็บไซต์

เว็บไซต์
© 2024 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
SEO Services Supplied by Bangkok Digital Services