“วี้หว่อ วี้หว่อ” เป็นเสียงที่แม้แต่เด็กน้อยชั้นเตรียมอนุบาล เช่น น้องภู น้องปุณณ์ น้องปูรณ์ น้องเรมี่ น้องจิน น้องปัทม์ น้องริตา ก็สามารถบอกได้ว่าเป็นเสียงของ “รถพยาบาล” และยังสามารถอธิบายเพิ่มเติมจากประสบการณ์เดิมของแต่ละคน เช่น น้องนิริน “รถพยาบาลเป็นสีขาว มีคนไข้ คนเจ็บในรถ” น้องเอมมี่ “รถพยาบาลมีที่ฉีดยาด้วย เป็นรถที่รักษาได้ ในรถมีคุณหมอ รถสีขาว” ซึ่งเด็กชั้นเตรียมอนุบาลได้เลือกเรื่อง “รถพยาบาล” เพื่อเรียนรู้อย่างลุ่มลึกในกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Project Approach ตามแนวทางของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
กระบวนการเรียนรู้ระยะเริ่มต้นในสัปดาห์แรก เด็กทุกคนได้เสนอหัวข้อเรื่องที่สนใจ ได้แก่ รถตำรวจ ช้าง รถพยาบาล รถดับเพลิง แมว โดยเด็ก ๆ ได้ติดชื่อตัวเองบนกราฟแสดงข้อมูลหัวข้อเรื่องที่เด็กอยากเรียนรู้ เรื่องที่มีเด็กเลือกมากที่สุดถึง 10 คน คือ “รถพยาบาล” จึงตกลงร่วมกันตามแนวทางประชาธิปไตย ใช้เรื่องนี้เป็นหัวข้อเรื่องที่จะเรียนรู้ร่วมกันใน 6 สัปดาห์
หลังจากได้หัวข้อเรื่องแล้ว ครูให้เด็กถ่ายทอดประสบการณ์เดิมผ่านการเล่า การวาดภาพ การปั้น การประดิษฐ์จากเศษวัสดุ และเริ่มตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัยเกี่ยวกับรถพยาบาล เช่น น้องมะลิ “ไฟบนหลังคารถมีไว้ทำไม” น้องเรมี่ “ทำไมรถพยาบาลต้องมีวี้หว่อ” และอีกหลายคำถาม สรุปเป็นสำคัญได้ 4 ประเด็น ได้แก่ รถพยาบาลคืออะไร ประเภทของรถพยาบาล ส่วนประกอบของรถพยาบาล และประโยชน์ของรถพยาบาล โดยเด็ก ๆ คิดและเสนอวิธีหาคำตอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสอบถาม เช่น น้องภู “ไปถามหมอเพราะหมออยู่ในรถพยาบาล” น้องโพ “ไปถามคุณตา” เด็กทุกคนจึงพร้อมที่จะเรียนรู้ และค้นหาคำตอบด้วยตนเองแล้ว
การสืบค้นข้อมูล หาคำตอบในสิ่งที่สงสัยของเด็ก ๆ ใช้เวลา 4 สัปดาห์ ที่ได้ค้นคว้าด้วยตนเองด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น จากพจนานุกรม การหาใน Google ซึ่งเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องพยัญชนะ ปุ่มกดบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ การถามคุณพ่อ คุณแม่ ทำให้เด็กได้คำตอบว่า “รถพยาบาล” คือ รถยนต์ของโรงพยาบาลที่ใช้รับส่งผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ระหว่างวิ่งเพื่อนำผู้ป่วย คนบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลจะเปิดไซเรนขอทางให้ยวดยานอื่นหลีกทางให้ และเพื่อหาคำตอบในประเด็นต่อไปเกี่ยวกับความแตกต่างของรถพยาบาลและรถตำรวจ เด็กได้ฝึกการตั้งสมมติฐาน และฝึกสังเกตจากสื่อต่าง ๆ และเปรียบเทียบ นำเสนอข้อมูลแลกเปลี่ยนกัน เช่น
น้องเพนกวิน “มีไฟเหมือนกัน สีรถไม่เหมือนกัน รถตำรวจไม่มีหมอ รถพยาบาลมีหมอ” น้องเอมมี่ “รถตำรวจมีไฟข้างบนไม่เหมือนรถพยาบาล ไม่มีอุปกรณ์ข้างในรถ ไม่มีคุณหมอ มีตำรวจ สีรถไม่เหมือน รถพยาบาลไว้รับคนป่วย รถตำรวจรักษาคนป่วยไม่ได้” และสรุปคำตอบร่วมกันได้ว่า รถทั้งสองชนิดมีสี ลักษณะของรถ และการใช้งานไม่เหมือนกัน
ตลอดระยะเวลาการเรียนรู้ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนกิจกรรมอย่างเต็มที่ โดยส่งสื่อที่เกี่ยวกับรถพยาบาลมาให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาร่วมกัน จัดหาหรือแนะนำวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ “รถพยาบาล” มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็ก ๆ ที่โรงเรียน เช่น คุณธัญญา วรรณพฤกษ์ และคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ได้นำรถพยาบาลมาให้เด็ก ๆ ได้สำรวจสืบค้นหาข้อมูลที่โรงเรียน เด็ก ๆ ช่วยกันคาดคะเนสิ่งต่าง ๆ ที่จะได้พบเจอในรถพยาบาล เช่น น้องเอมี่ “ในรถพยาบาลต้องมีคนบาดเจ็บ” น้องชินจัง “มีคุณหมอสวย” และเตรียมคำถามไว้มากมาย เช่น น้องเจ้าทรัพย์ “อยากรู้ว่าคนเปลคืออะไร” น้องปุณณ์ “เปิดวี้หว่อตอนไหน”
เด็ก ๆ ตื่นเต้นดีใจ เมื่อเห็นรถพยาบาลจริง ๆ วิ่งเข้ามาในโรงเรียน เด็กได้เล่นบทบาทสมมติเป็นคนไข้ ได้จับสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ เปิดไซเรน ไฟสัญญาณฉุกเฉิน ได้ถามสิ่งที่สงสัยกับคุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่
ซึ่งหลังจากการเรียนรู้ เด็ก ๆ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยการเล่า เช่น น้องเจ้าทรัพย์ “ได้ขึ้นรถพยาบาล เห็นอุปกรณ์ที่ช่วยหายใจ ถังออกซิเจน มีเตียงไว้เข็นคนเจ็บขึ้นรถ มีสายรัดให้คนป่วยไม่ตก มีที่ให้น้ำเกลือ มีไฟไซเรนบนรถอยู่บนหลังคารถมีสีแดง สีฟ้า มีที่พูด มีที่กด มีที่วัดไข้ ถุงน้ำเกลือ” น้องคิท “เห็นถังสีเขียว ถังออกซิเจน” น้องลูฟว์ “กระเป๋าใส่อุปกรณ์ของคุณหมอ ที่วัดไข้เอาไว้ตรงรักแร้” เป็นต้น ทำให้เด็กรู้ว่าหากไม่สบายต้องไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาล และเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องอื่น ๆ ที่เด็กอยากเรียนรู้เกี่ยวกับช้างและแมว ซึ่งเป็นสัตว์ จึงได้ช่วยกันคิดหาคำตอบว่า ถ้าสัตว์เจ็บป่วยต้องทำอย่างไร ซึ่งเด็ก ๆ สามารถตอบได้อย่างน่าสนใจ เช่น น้องนิริน “สุนัขตัวเล็กป่วย ขับรถพาไปหาหมอได้” น้องจิน “คิดว่าไม่มีรถพยาบาลสัตว์ เพราะคนพาไป” ซึ่งจะสังเกตจากคำตอบของเด็ก ๆ ได้ว่ามีการคิดจากประสบการณ์เดิมของแต่ละคนอย่างมีเหตุผล เพื่อให้ได้คำตอบในประเด็นที่สงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถพยาบาลของสัตว์
ครูได้นำภาพรถพยาบาล สัตว์มาให้เด็กได้ศึกษาและเปรียบเทียบ ซึ่งเด็ก ๆ สามารถเปรียบเทียบได้ดี เช่น น้องจิน “รถพยาบาลสัตว์รับ หมา แมว กระต่าย รถพยาบาลคนรับคน” น้องอลิซ “รถพยาบาลคนกับรถพยาบาลสัตว์ไม่เหมือนกัน รถพยาบาลสัตว์มีรูปหมา แมว” เป็นต้น และครูได้ทดลองเปิดเสียงไซเรน 4 แบบ ให้เด็กฟังเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนต่าง และได้อธิบายเพิ่มเติมความหมายของเสียงที่แตกต่างให้เด็ก เด็ก ๆ สามารถสรุปความคิดได้ เช่น น้องข้าว “เปิดไฟ เปิดเสียง ผู้ป่วยอาการหนัก เปิดเสียงอย่างเดียวไปส่งบ้าน” น้องภู “เปิดไฟอย่างเดียวผู้ป่วยกำลังจะหายแล้ว ส่งกลับบ้านได้แล้ว เปิดไฟ เปิดเสียงสัญญาณผู้ป่วยอาการหนัก เปิดไฟเสียงดังเป็นช่วง ๆ ผู้ป่วยไม่เป็นอันตราย” และเด็กได้เรียนรู้จากคลิปวิดิโอเกี่ยวกับรถพยาบาล ได้เห็นทั้งภาพ ฟังเสียงบรรยาย และครูพูดคุยกับเด็กสรุปข้อมูลร่วมกันถึงประโยชน์ของรถพยาบาล เช่น น้องปราชญ์ “ช่วยคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาล ไปหาหมอ” น้องภู “รถพยาบาลช่วยส่งคนไข้ไปโรงพยาบาล ถ้าไปไม่ทันอาจจะเสียชีวิตได้ ในรถพยาบาลมีเครื่องมือช่วยคนได้” เป็นต้น ซึ่งในการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ครูได้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ STEAM ให้เด็กได้ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เช่น การฝึกตั้งสมมติฐาน การทดลองด้วยตนเอง เป็นต้น กิจกรรมเทคโนโลยี เช่น ฝึกการเลือกใช้เครื่องมือ กิจกรรมวิศวกรรมศาสตร์ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับวัสดุ ออกแบบและประดิษฐ์สิ่งของ เป็นต้น กิจกรรมศิลปศาสตร์ เช่น การฝึกพูดสื่อสาร การบอกเล่า การเรียนรู้คำศัพท์ การวาดภาพตามจินตนาการ เป็นต้น และกิจกรรมคณิตศาสตร์ เช่น การฝึกสังเกตรูปทรง การเปรียบเทียบ ตัวเลข การนับจำนวน เป็นต้น
จากการเรียนรู้ เกี่ยวกับรถพยาบาลตั้งแต่สัปดาห์แรก นำมาสรุปในสัปดาห์ที่ 6 ซึ่งเป็นระยะที่ 3 คือ การสรุปผล เด็กทุกคนได้การเล่าสรุปเกี่ยวกับรถพยาบาลได้อย่างชัดเจน ตอบคำถามตั้งต้นได้ทุกประเด็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลจากการเรียนรู้ได้ว่าเด็กรู้จักตั้งสมมติฐาน เกิดทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รู้จักฟังและสื่อสารหรือถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย สามารถเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน ๆ ได้ มีทักษะคิดรวบยอดจากสิ่งที่เรียนรู้ และสุดท้ายของกิจกรรม เด็กได้ช่วยกันจัดทำรถพยาบาลจำลอง ป้ายนิทรรศการ ช่วยจัดวางผลงานต่าง ๆ และการนำเสนอให้ผู้ปกครองได้รับชมในงานนิทรรศการ Project Approach ที่จะแสดงศักยภาพของเด็กชั้นเตรียมอนุบาล ที่แม้จะเป็นน้องเล็กของโรงเรียน แต่ความอยากรู้อยากเห็น และความกระตือรือร้นสนใจเรียนรู้ไม่ได้เล็กตามตัว
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่
3810 ถนนพระราม 4 , แขวงคลองตัน เขตคลองเตย, กรุงเทพ, 10110 ob_start(); ?>
โทรศัพท์: (0) 2 249-0081-3 ob_start(); ?>เยี่ยมชมเว็บไซต์
เว็บไซต์